วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2552

พฤติกรรมเกเร" แท้จริงแล้วคือปัญหา

"พฤติกรรมเกเร" แท้จริงแล้วคือปัญหา

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 มกราคม 2552 14:17 น.



หากเอ่ยชื่อการ์ตูน "โดเรมอน" จากแดนปลาดิบ นอกจากโนบิตะ ชิซูกะ ซูเนโอะแล้ว คงมีหลายคนที่นึกถึงไจแอนท์ เด็กอ้วนจอมเกเรในเรื่องได้ติดตา กับพฤติกรรมขี้โมโห ชอบแกล้งคนอื่น โดยเฉพาะเพื่อนที่อ่อนแออย่างโนบิตะ

ในชีวิตจริง เด็กที่เป็นอย่างไจแอนท์ก็คงมีไม่น้อย ที่ใช้ "การกลั่นแกล้ง" คนอื่นมาเป็นเครื่องสร้างความสบายใจ รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะให้ตัวเอง แต่คงไม่ดีแน่ หากจะปล่อยให้เด็ก ๆ ติดนิสัยเหล่านั้นไปจนโต ซึ่งมีโอกาสมากที่เด็กคนนั้นจะแอบไปเพิ่มขีดความสามารถในการกลั่นแกล้งไปสู่การข่มขู่ ข่มเหงน้ำใจ หรือล่วงละเมิดคนอื่น ๆ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ระบบการทำงาน เพราะนั่นหมายถึงการเติบโตขึ้นในแบบที่เป็นปัญหาต่อสังคมโดยรวม

ปัญหาเด็กเกเรเกิดขึ้นได้ไม่ยาก เด็กบางคนอาจเกเรเพราะอิจฉาเพื่อน ซึ่งแก้ได้ง่าย ๆ ด้วยการให้เด็กหลีกเลี่ยง ไม่เข้าใกล้เพื่อนคนนั้น ในขณะที่เด็กบางคนก็รู้สึกสนุกกับการได้ทำร้ายคนอื่น เพราะทำให้เด็กรู้สึกว่ามีอำนาจมากขึ้น แต่เด็กบางคนก็กลายเป็นเด็กเกเรเพียงเพราะคบกับเพื่อนที่เป็นแก๊งอันธพาล ทำให้ต้องคอยรังแกคนอื่นอยู่ร่ำไป

สำหรับผู้ใหญ่ที่เคยเป็นเด็กเกเรมาก่อน มักลงเอยด้วยการมีปัญหามากมายในชีวิต เช่น มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนอื่น มีเพื่อนน้อย เปลี่ยนงานบ่อย เพราะเขาเคยชินกับการปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความก้าวร้าวและดุร้าย จึงอาจเป็นเรื่องที่ดี หากรีบแก้ปัญหานี้เสียตั้งแต่เด็ก ซึ่งการจะสอนให้เด็กหยุดการรังแกคนอื่นนั้นอาจเริ่มต้นจาก

1. พูดคุยถึงต้นตอของปัญหา สอบถามถึงที่มาของพฤติกรรมเกเรของเขา หรือใช้การสังเกตในสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

- เด็กตั้งใจที่จะทำให้คนอื่น ๆ ไม่สบายใจหรือเสียใจหรือเปล่า
- เด็กรู้ตัวหรือเปล่าในขณะที่กำลังรังแกคนอื่น
- เด็กมีปัญหาที่บ้านหรือโรงเรียนไหม มีใครกำลังรังแกเด็กอยู่หรือเปล่า
- เวลาอยู่ที่โรงเรียน เด็กรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง หรือทำให้เหงาไหม
- เด็กรังแกใครบางคนแบบเฉพาะเจาะจงไหม
- เด็กคบเพื่อนที่เป็นอันธพาล ชอบรังแกคนอื่นหรือเปล่า
- เด็กรู้สึกตื่นเต้นหรือสนุกกับการได้ทำร้ายคนอื่นหรือไม่
- เด็กเคยเป็นคนที่ถูกรังแกมาก่อนหรือเปล่า

เพราะบ่อยครั้งที่กลุ่มเพื่อนที่คบ สิ่งแวดล้อมที่บ้าน ประสบการณ์ที่ได้รับมาในอดีตคือตัวการที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมเกเรติดตัวไปจนโต ดังนั้น อาจเป็นการดีที่ให้เด็กเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง (ซึ่งเด็กจะเล่าปัญหาให้กับคนที่เด็กไว้ใจ และเข้าใจ รวมถึงให้กำลังใจเขานะคะ)

2. เมื่อเด็กเปิดใจ อธิบายถึงปัญหา และรู้สึกผิดกับสิ่งที่ทำลงไป ลองให้เด็กหาโอกาสไป "ขอโทษ" คนที่เคยทำร้าย และเตือนว่าอย่าหงุดหงิด หากเด็กที่เคยถูกทำร้ายมีท่าทีระแวงสงสัย เพราะเขาอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัว

3. สอนให้เด็กทำดีกับเพื่อนเป็นการชดเชย หรืออย่างน้อยก็แสดงความเป็นมิตรกับเพื่อน และให้กำลังใจเด็กในการทำดีอย่างต่อเนื่อง

4. สอนให้เด็กรู้จักควบคุมความโกรธ ไม่ให้ระเบิดออกมา หรือถ้าระเบิดออกมาก็อย่าไปทำร้ายคนอื่น เช่น นับ 1 - 10

5. หากิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมให้เด็กทำ เด็กเกเรส่วนหนึ่งเกเรเพราะความเหงา ขาดความมั่นใจ การที่มีโอกาสทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น จะทำให้เขาได้พบกับเพื่อนใหม่ ๆ มากขึ้น และมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

6. มองหาจุดเด่นในตัวเด็ก และสนับสนุนให้เขาพัฒนาจุดเด่นนั้น ๆ เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ

ที่สำคัญคือ ผู้ใหญ่ต้องพยายามให้กำลังใจเด็กเกเรบ่อย ๆ เพราะเด็กอาจเผลอไปรังแกเพื่อนอีกโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ หรือด้วยความลืมตัว การให้กำลังใจอาจเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ดีค่ะ

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก สสส.ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: