วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2552 เวลา 15:09:10 น. มติชนออนไลน์
ทำไมต้อง "เล่านิทาน-อ่านหนังสือ" ให้ลูกฟัง?
เป็นเรื่องที่พูดกันมานานโข เกี่ยวกับการเล่านิทาน และอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ส่วนใหญ่ก็พูดกันแต่ว่าจะทำให้เด็กฉลาด เปิดโลกกว้าง และต่างๆ นานา แต่ก็ยังไม่มีใครพูดให้ชัดเจนในเชิงหลักวิชาการว่า ฉไนเลย การเล่านิทาน และอ่านหนังสือให้ลูกฟังนั้น ทำให้เด็กฉลาดได้อย่างไร
นพ.อุดม เพชรสังหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมศักยภาพสมองของเด็กและเยาวชน และรองประธานฝ่ายพัฒนาวิชาการ บริษัท รักลูกกรุ๊ป จำกัด จะมาไขปริศนานี้ให้ฟัง
คุณหมออุดม อ้างผลงานการค้นคว้าของ อีริค อาร์ แคนเดล จิตแพทย์ชาวอเมริกัน เจ้าของโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2543 จากผลงานการค้นคว้าวิจัยเรื่องการเรียนรู้และความจำมนุษย์ ได้สรุปผลงานตัวเองออกมาด้วยข้อความสั้นๆ ว่า "การเรียนรู้คือสิ่งที่ทำให้ ′เรา′ เป็นดังเช่นทุกวันนี้"
ความหมายคือ ความรู้ ความจำ ที่เราได้เรียน ได้รู้ จากสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวนั่นแหละคือสิ่งที่หล่อหลอมให้เราเป็นคนดี เป็นคนเก่ง เป็นคนมีน้ำใจไมตรี หรือแม้แต่เป็นคนขี้โกง
นอกจากนี้ อีริค ได้อธิบายการเรียนรู้ของเราด้วยการทำงานของเซลล์สมอง ว่า ขณะที่คนเราอยู่ในท้องแม่ เซลล์สมองจะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วจนกระทั่งก่อรูปเป็นก้อนสมอง อย่างที่เราเคยเห็นในหนังสือ หรืองานนิทรรศการต่างๆ แต่เซลล์สมองจะยังไม่ทำงานทันที จนกว่ามันจะงอกเส้นใยออกมาต่อเชื่อมกันเป็นเครือข่ายเป็นวงจร เหมือนกับวงจรในเครื่องรับวิทยุ หรือคอมพิวเตอร์ที่เราใช้ตามบ้าน
ในช่วงแรก พันธุกรรมที่เราได้รับจากพ่อแม่จะเป็นตัวควบคุมให้เซลล์สมองเหล่านี้แตกเส้นใยออกมาต่อเชื่อมกันเป็นวงจรเป็นเครือข่าย เพื่อทำหน้าที่บางอย่างในการมีชีวิตอยู่ของเรา เช่น ทำหน้าที่ควบคุมการหายใจ ควบคุมกาเต้นของหัวใจ ควบคุมการนอนหลับและตื่น ควบคุมให้ร้องเมื่อหิว หยุดร้องเมื่อกินอื่ม พันธุกรรมจะทำหน้าที่สั่งให้เซลล์สมองพัฒนาตัวเองให้ทำงานในหน้าที่เบื้องต้นเหล่านี้ ซึ่งถ้าไม่ทำหน้าที่นี้แต่แรกเราก็จะไม่สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้
แต่นอกเหนือไปจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นการพัมนาภษา การสื่อสาร การพัมนานิสัยใจคอ การพัมนาความคิด เหตุผล อารมณ์ ความชอบ ความเกลียด ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในภายหลังโดยผ่านการเรียนรู้ทั้งสิ้น
โดยในการเล่านิทาน พ่อแม่จะต้องใช้น้ำเสียงในการเปล่งคำพูด ต้องมีการแสดงท่าทางประกอบ เพื่อให้เด็กเข้าใจถึงความหมายที่สื่อออกมา เซลล์สมองของเด็กก็จะบันทึกท่าทางที่แสดงออกถึงเจตนานั้น เช่น บ๊ายบาย นอนหลับ กินข้าว เป็นต้น ร่วมกับน้ำเสียงที่เปล่งออกมา เก็บเอาไว้ในส่วนของความจำ
เมื่อท่าทางและคำพูดได้ถูกนำมาแสดงให้เห็นบ่อยๆ เด็กก็จะจดจำท่าทาง เสียงที่พูด รวมถึงความหมายของคำนั้นเป็นอย่างดี คราวต่อไปพ่อแม่เพียงแค่แสดงท่าทาง หรือเปล่งเสียง โดยไม่ต้องทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน สมองส่วนความจำของเด็กก็จะระลึกได้ว่ามันคืออะไร และก็จะเข้าใจความหมายของคำนั้น หรือท่าทางนั้นๆ เอง
ส่วนเรื่องการอ่านหนังสือนั้น มีรายละเอียดไม่ต่างจากการเล่านิทานมากนัก เพียงแต่เรามีหนังสือภาพหรือนิทานมาประกอบด้วย อย่างเมื่อเวลาที่ พ่อแม่ชี้ไปที่ภาพ "ไก่" พร้อมกับพูดคำว่า "ไก่" ไปด้วยนั้น และชี้ไปที่คำว่า "ไก่" โดยอ่านให้เด็กฟังอย่างนี้บ่อยๆ สมองของเด็กก็จะบันทึกทั้งภาพ คำพูด และตัวอักษรไปพร้อมกัน ต่อไปเมื่อเด็กเห็นตัวไก่ ก็จะเรียกชื่อถูก เมื่อเจอตัวหนังสือก็จะอ่านออก
การเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟัง จึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาภาษาที่ดีมากๆ สำหรับเด็ก และภาษานี่แหละคือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนเราเรียนรู้ และถ่ายทอดความรู้ให้แก่กันและกันเรื่อยมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ทำให้เราฉลาดกว่าสัตว์ทั้งปวงในโลกนี้
ไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่า เด็กที่มีความสามารถทางภาษาสูงจะมีความจำดีกว่าเด็กที่มีความสามารถทางภาษาต่ำ เนื่องจากเด็กจะสามารถเรียบเรียงข้อมูลความรู้ให้เป็นภาษาได้ดีกว่า เพราะเก็บเป็นความจำและเป็นระบบมากกว่า
นอกจากนี้ เรื่องราวต่างๆ ที่เราเล่าหรืออ่านให้เด็กฟังนั้น บางเรื่องราวสะท้อนให้เห็นที่มาของเหตุแลผลที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กมองเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ เด็กจะซึมซับและเลียนแบบสิ่งเหล่านี้ไปเป็นแบบอย่างสำหรับชีวิต ของเขาเอง โดยเซลล์กระจกเงาที่อยู่ในมองจะทำหน้าที่อันนี้ ถ้าเราเลือกหนังสือดีๆ มาอ่านให้ลูกฟัง แน่นอนนิสัยดีๆ ย่อมเกิดแก่ลูกของเรา
ข้อสำคัญ การที่เราเล่านิทานอ่านหนังสือให้เด็กฟังมันเป็นการแสดงออกว่าเรารักเขา เด็กที่รู้สึกว่าพ่อแม่รักก็จะเป็นเด็กที่มีความมั่นใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาศักยภาพและตัวตนของเด็กในอนาคต
พอจะเข้าใจถึงความจำเป็น และความสำคัญของการเล่านิทาน และอ่านหนังสือให้ลูกฟังแล้ว หากต้องการอ่านฉบับเต็ม สามารถติดตามได้จาก นิตยสาร "รักลูก" ฉบับเดือนมกราคม ซึ่ง "คุณหมออุดม" จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาสมองลูก ให้ได้ติดตามเป็นประจำในคอลัมน์ "Brain Forum"
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น