วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2552

KingMath เทคนิคคณิตศาสตร์แนว Why จากแดนโสม

KingMath เทคนิคคณิตศาสตร์แนว Why จากแดนโสม

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 มกราคม 2552 22:21 น.


ในสวนสัตว์มียีราฟและนกยูงรวมกัน 25 ตัว นับขาได้ 68 ขา จงแสดงว่ามียีราฟกี่ตัว?

หากถามโจทย์คณิตศาสตร์นี้กับผู้ใหญ่ หลายคนคงเริ่มหยิบกระดาษดินสอ และแทนค่าสมการด้วยตัวแปร x และ y กันอย่างสนุกมือ แต่หากต้องการนำโจทย์นี้ไปถามกับเด็กประถม ผู้ใหญ่หลายคนอาจส่ายหน้าด้วยความคิดที่ว่า ยังเร็วเกินไปสำหรับการสอนเด็กในช่วงชั้นดังกล่าวให้รู้จักกับสมการ หรือตัวแปร x y z เพื่อไขคำตอบจากโจทย์ดังกล่าว

แต่เชื่อหรือไม่ว่า แม้ไม่รู้จักการแทนค่าตัวแปร x y z เด็กในประเทศที่มีอันดับคะแนนคณิตศาสตร์สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างเกาหลีใต้ก็สามารถแก้โจทย์ดังกล่าวได้ตั้งแต่ชั้นประถม 3 !!!!

ข้อความข้างต้นไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อ หรือเกิดจากการเรียนที่หนักกว่าปกติของเด็กเกาหลี แต่เกิดจากรูปแบบการเรียนการสอนที่ให้เด็กคิดผ่านการตั้งคำถามของคุณครู ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะหาคำตอบของโจทย์ข้อนี้ได้

ผลที่ได้จากการสอนในลักษณะดังกล่าว นอกจากจะทำให้พบวิธีพัฒนาเด็กในด้านคณิตศาสตร์แล้ว ยังเป็นการปลุกศักยภาพในตัวของเด็กที่มีไม่จำกัดออกมาได้เป็นอย่างดี และยังทำให้ค้นพบว่าวิธีในการตอบโจทย์ดังกล่าวยังมีอีกมากมายนับสิบวิธี มีแม้กระทั่งใช้การวาดภาพเพื่อหาคำตอบ ซึ่งเป็นวิธีคิดง่าย ๆ สไตล์เด็ก ป.3 นั่นเอง

เมื่อห้องเรียนเปิดโอกาสให้แสดงความคิดสร้างสรรค์ จึงไม่แปลกที่ความชอบและความถนัดด้านคณิตศาสตร์ของเด็กเกาหลีใต้จะถูกดึงออกมาใช้อย่างต่อเนื่อง และทำให้อันดับในการวัดผลทางด้านคณิตศาสตร์จากโครงการ PISA (Program for International Student Assessment) และโครงการศึกษานานาชาติ Trends in International Mathematics and Science Study หรือ TIMSSของเยาวชนเกาหลีใต้นั้นติดอันดับ 1 ของโลกมายาวนานนับ 10 ปี (สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 33 จากทั้งหมด 40 อันดับ)

MGR Lite และ Life & Family มีโอกาสพบกับ มร.ปาร์ค มยุง จุน (Park Myung Jun) อดีตคุณครูคณิตศาสตร์ผู้คิดค้นและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนคณิตศาสตร์แนวใหม่ โดย มร.ปาร์คเล่าถึงประสบการณ์ในการสอนอันยาวนานซึ่งเป็นที่มาของหลักสูตร KingMath ที่เขาคิดค้นขึ้นว่า

"เทคนิคการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ก็เหมือนกับการจับปลา ปลาแต่ละชนิดมีวิธีจับมากกว่าหนึ่งวิธี โจทย์คณิตศาสตร์เองก็เช่นกัน อาจกล่าวได้ว่าการกระตุ้นให้เด็กคิด และมีส่วนร่วมในชั้นเรียนเป็นสิ่งสำคัญมาก สำหรับการเรียนคณิตศาสตร์ เพราะเรามีโอกาสค้นพบเทคนิคใหม่ ๆ การคิดใหม่ ๆ ได้มากมาย เพียงแค่ครูให้คำชี้แนะกับเด็กว่าโจทย์รูปแบบนี้ควรจะต้องทำอย่างไร แล้วเด็กจะมีความคิดที่หลากหลายพรั่งหรูออกมา ซึ่งโดยปกติแล้ว หากเด็กทำได้ดี คุณครูควรมีรางวัลให้เด็กด้วย เพื่อช่วยจูงใจให้เด็กชอบคณิตศาสตร์มากยิ่งขึ้น"

จากโจทย์ -- ในสวนสัตว์มียีราฟและนกยูงรวมกัน 25 ตัว นับขาได้ 68 ขา จงแสดงว่ามียีราฟกี่ตัว? -- วิธีคิดของเด็กประถม 3 จึงอาจเป็นการวาดภาพนก 25 ตัว ซึ่งเด็กจะพบว่า ขาได้ถูกใช้ไปเพียง 50 ขาเท่านั้น (25 x 2) เหลือขาที่ยังไม่ได้ใช้อีกตั้ง 18 ขา (68 - 50) เด็กก็จะเอาขาที่เหลือนั้นไปใส่ให้กับนกทีละ 2 ขา เพื่อเปลี่ยนให้นกกลายเป็นยีราฟ เมื่อทำไปเรื่อย ๆ เด็กก็พบว่ามีสัตว์อยู่ 9 ตัวที่มีขา 4 ข้าง ส่วนอีก 16 ตัวนั้นมีขา 2 ข้าง นั่นคือที่มาของคำตอบว่า มีนกยูง 16 ตัว และมียีราฟ 9 ตัว ในสวนสัตว์แห่งนี้

After School แปลกที่แตกต่าง

จากคำบอกเล่าของ มร.ปาร์ค ยังทำให้ทราบอีกด้วยว่า ค่านิยมด้านการเรียนวิชาต่าง ๆ ของครอบครัวชาวเกาหลีใต้มีสิ่งที่แตกต่างจากประเทศไทยหลายประการ หนึ่งในนั้นก็คือ การมีโรงเรียนในรูปแบบ After School สำหรับเด็ก ๆ ซึ่งอาจแตกต่างไปจากโรงเรียนกวดวิชาสไตล์ไทย ๆ โดยโรงเรียนแนว After School นั้นเริ่มรับเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาล มีหลายวิชาให้เลือกเรียน ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาเกาหลี ภาษาอังกฤษ ฯลฯ แต่การสอนจะใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย และสอนเพื่อสร้างความเข้าใจในวิชานั้น ๆ แต่จะไม่เน้นเรื่องเทคนิคการทำคะแนนให้ได้มาก ๆ เพื่อการสอบเข้า เช่น การตัดตัวเลือกที่ไม่น่าจะเป็นคำตอบของโจทย์ แบบที่โรงเรียนกวดวิชาบางแห่งนิยมฝึกเด็ก

ทั้งนี้ ต้นกำเนิดของโรงเรียนในรูปแบบ After School มาจากปัญหาในระบบการเรียนการสอน ที่ทุกประเทศต่างพบเจอนั่นก็คือ การที่ให้เด็กเก่งและเด็กไม่เก่งเรียนคละกัน



"เด็กอ่อนต้องเรียนร่วมกับเด็กเก่ง ดังนั้น หากคุณครูสอนไว เด็กที่เข้าใจช้าก็จะตามไม่ทัน แต่ถ้าสอนช้า เด็กที่หัวไวก็จะเบื่อ เพราะเรียนไม่สนุก นอกจากนั้น ในการเรียนคณิตศาสตร์ (รวมถึงการเรียนในทุกวิชา) ยังขาดระบบประเมินผลเด็กว่ามีจุดอ่อนในด้านใด ครูและผู้ปกครองอาจทราบแค่เพียงว่าเด็กคนนี้อ่อนคณิตศาสตร์ แต่อ่อนตรงไหน อย่างไร ไม่มีใครทราบ ดังนั้นจึงไม่สามาถแก้ไขปัญหาให้เด็กได้อย่างถูกจุด"

โรงเรียนแนว After School จึงเข้ามารับปัญหานี้ไปแก้ไข โดยการจัดการสอนสำหรับเด็กตามกลุ่มความสามารถ เด็กเก่งได้เรียนเทคนิคแนวคิดใหม่ ๆ เด็กเรียนช้าได้มีเวลาปูพื้นฐานให้แน่น และมีการจัดทำระบบประเมินผลเด็ก หาจุดอ่อนของเด็กเพื่อทำการแก้ไข

"เพราะเด็ก ๆ มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ที่แตกต่างกัน จึงควรมีการประเมินความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ และจัดบทเรียนให้เหมาะสมกับระดับความรู้ เมื่อเริ่มต้นเรียนคณิตศาสตร์อาจเริ่มต้นจากการเรียนทฤษฎี การแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ฝึกความแม่นยำ และนำมาประเมินความสามารถเพื่อวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของเด็ก" มร.ปาร์คกล่าว

คณิตศาสตร์แนว Why?

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกเกี่ยวกับการเรียนคณิตศาสตร์ในปัจจุบันยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาหลักที่พบยังคงเป็นเรื่องของจำนวนเด็ก ๆ ที่ไม่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์มีเพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาศาสตร์ต่าง ๆ ของโลก โดยเฉพาะศาสตร์บางแขนงที่มีวิชาคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐาน เช่น วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การขาดบุคลากรจึงทำให้การต่อยอดความรู้ในสาขาต่าง ๆ ต้องน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่เมินคณิตศาสตร์นอกจากจะเกิดขึ้นจากการเรียนคละกันตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังเกิดจาก "ความไม่เข้าใจ" ถึงความจำเป็นในการเรียนคณิตศาสตร์ด้วย

"สิ่งที่ผิดพลาดของการเรียนคณิตศาสตร์ในอดีตอาจเป็นเรื่องของการใช้คำถาม What? ไปถามเด็ก ปฏิบัติกับเด็กเป็นเหมือนเครื่องมือหรืออุปกรณ์อย่างหนึ่งในการหาคำตอบออกมา แต่แนวทางในการสอนคณิตศาสตร์ของเราที่คิดค้นขึ้นและใช้สอนกับเด็ก ๆ ในเกาหลีใต้ก็คือ เราจะไม่ถามคำถาม What? กับเด็ก เพราะคำถาม What? เราสามารถหาคำตอบได้จากเครื่องคิดเลข คอมพิวเตอร์ เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้ถูกออกแบบมาให้ตอบคำถาม What?"

"สิ่งที่เราจะถามกับเด็กคือ Why? เห็นได้จากโจทย์คณิตศาสตร์ของเราคือ Why? เด็กมีโอกาสได้คิดถึงกระบวนการในการหาคำตอบ ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ได้คิด วิเคราะห์ หาเหตุผลมาตอบคำถาม ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่เครื่องจักรทำไม่ได้"

ซึ่งก่อนจะจากกัน มร.ปาร์คได้กล่าวถึงความสำเร็จของเกาหลีใต้ในอุตสาหกรรมโลกเอาไว้ประการหนึ่ง มีใจความว่า

"เกาหลีใต้มีบริษัทอย่างแอลจี ซัมซุง เพราะเรามีทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งรากฐานของการก่อตั้งบริษัทที่ผลิตสินค้าเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนแล้วต้องอาศัยความเข้าใจเรื่องคณิตศาสตร์ หากเยาวชนในประเทศมีพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์ดี มีความเข้าใจ ก็จะทำให้เกิดวิศวกรที่ดีตามมา และสามารถพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ได้"

ไม่มีความคิดเห็น: