วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552

“เด็กๆVSศิลปะ” ในมุมมองของพี่สาวนายก





มีหลายคนมักกล่าวกันว่า สมุดระบายสี ดินสอสีและทุกอย่างที่เกี่ยวกับศิลปะเป็นของอาวุธข้างกายของเด็กหลายคน เพราะเด็กส่วนใหญ่มักสนุกกับการสร้างจินตนาการบนกระดาษวาดรูป ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีอีกครั้งหนึ่งที่ทางทีมงานLife and Family ได้มีโอกาสพบ ศ.พญ.อลิสา วัชรสินธุ พี่สาวคนเก่งของนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและเป็นคุณแม่ของน้องไอติมที่หลายคนแอบชื่นชม พร้อมกับพูดคุยกับคุณพล ตัณฑเสถียร ดาราชื่อดังมากความสามารถในวันแถลงข่าวงาน “วันระบายสีเด็กทั่วโลก (World Kids Colouring Day) ที่จะจัดขึ้นวันที่ 5 พ.ค.นี้ เวลา 10.00-20.00 น. ณ ลานเอเทรี่ยม 2 เซ็นทรัล เวิลด์

อย่างไรก็ดี ศ.พญ.อลิสา วัชรสินธุ หัวหน้าหน่วยจิตเวชเด็ก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงความสำคัญของศิลปะว่า “ศิลปะเป็นเครื่องมือที่ดีในการพัฒนาความสามารถของเด็ก หากพ่อแม่ให้เด็กๆได้รู้จักศิลปะเร็วเพียงใด เด็กๆยิ่งได้ประโยชน์จากการใกล้ชิดศิลปะมากเท่านั้น ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังได้นำศิลปะต่างๆมาใช้ในการบำบัดเด็กอีกด้วย ซึ่งศิลปะในการรักษานั้น แม้จะไม่ใช่การรักษาหลัก แต่ศิลปะเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่งที่นิยมใช้เพื่อการสื่อสารสำหรับกับเด็กบางประเภทเช่น เด็กที่มีปัญหาด้านอารมณ์ หรือเด็กที่ถูกทารุณกรรม ผู้ที่ไม่สามารถสื่อออกมาทางคำพูดได้ จึงต้องอาศัยการวาดภาพแทน รวมไปถึงกลุ่มเด็กที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเองก็มักอาศัยศิลปะในการสื่อสารด้านอารมณ์เช่นกัน”



ศ.พญ.อลิสา วัชรสินธุ
ส่วนข้อดีของศิลปะในมุมมองของศ.พญ.อลิสานั้น คุณหมอกล่าวว่า “ศิลปะเป็นสิ่งที่คู่กับเด็กๆมาโดยตลอด การที่เด็กๆชอบวาดรูป ระบายสี ใช้เวลาว่างอยู่ในโลกศิลปะนั้น นับเป็นกิจกรรมที่ลงทุนค่อนข้างน้อยเพราะอุปกรณ์ที่ใช้ก็มีเพียงดินสอสี กระดาษ หรือพู่กันตามถนัด ซึ่งข้อดีที่เด่นชัดของศิลปะนั้น คือ ศิลปะได้สร้าง“จินตนาการ”ของเด็กอยู่เสมอ ดังนั้นพ่อแม่ควรแบ่งเวลาอยู่กับลูกและทำกิจกรรมร่วมกันผ่านศิลปะก็เป็นได้เช่น การวาดรูปด้วยกันพ่อแม่ลูก หรือชื่นชมลูกทุกครั้งที่เขาใช้เวลาอยู่กับศิลปะ”

อย่างไรก็ดีศ.พญ.อลิสา ได้ฝากถึงพ่อแม่ทุกคนว่า “แม้ว่าการที่ลูกชอบจับดินสอวาดภาพระบายสีจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเขาและพ่อแม่เองก็รู้สึกภูมิใจ แต่ความไม่พอดี และการคาดหวังในตัวเด็กจากพ่อแม่ก็อาจทำร้ายเขาไม่รู้ตัว เพราะเด็กบางคนรักศิลปะมาก จนพ่อแม่เห็นแววว่าลูกน่าจะไปทางสายศิลปะได้ดีกว่ากิจกรรมอื่น จึงเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ และคาดหวังในตัวลูกว่า เขาจะต้องเป็นศิลปิน ต้องวาดรูปเก่ง ซึ่งอันที่จริงแล้วการคาดหวังของพ่อแม่จะเป็นการทำร้ายเขาหากเขาถูกบีบบังคับ ซึ่งหมออยากบอกพ่อแม่ทุกคนว่า ปัจจุบันนี้เด็กไทยเรามักอยู่ในสภาพที่ถูกกดดันมาก เด็กเครียดเพราะความคาดหวังของพ่อแม่ โดยที่พ่อแม่เองไม่ได้คำนึงถึงเรื่อง “พรสวรรค์” ฉะนั้นพ่อแม่ทุกคนควรตระหนักอยู่เสมอว่า สิ่งใดที่ลูกชอบ ควรให้เขาลงมือทำอย่างมีความสุข อย่าไปคาดหวังกับเขา และเชื่ออยู่เสมอว่า ไม่ว่าเขาจะเลือกกิจกรรมอะไร สิ่งที่เขาทำคือสิ่งที่เขาชอบ”


คุณพล ตัณฑเสถียร

ทางด้าน คุณพล ตัณฑเสถียร นักแสดงชื่อดังได้แนะว่า “ปัจจุบันนี้ โกส่วนใหญ่มักใช้เวลาไปกับการเล่นเกม ซึ่งจริงแล้วมันไม่เหมาะสมเลย เด็กๆควรจะได้ทำกิจกรรมอื่นบ้าง แต่เรื่องนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับพ่อแม่ด้วยว่ามีเวลาให้ลูกมากน้อยแค่ไหน เพราะพ่อแม่บางคนทำงานจนไม่สามารถแบ่งเวลาให้ลูกได้อย่างที่ควรจะเป็น และไม่ได้คำนึงว่าเด็กๆกับศิลปะเป็นสิ่งที่ควรอยู่ด้วยกัน เด็กคนไหนห่างไกลศิลปะ ผมว่าน่ากลัวนะ เพราะศิลปะมันเป็นส่วนหนึ่งในการขัดเกลาจิตใจเด็ก แม้ว่าเด็กแต่ละคนจะมีความชอบที่ต่างกันไป แต่ผมเชื่อว่าจินตนาการส่วนหนึ่งมาจากโลกแห่งศิลปะ ผมจึงอยากให้พ่อแม่ให้ความสำคัญกับศิลปะมากขึ้น เพราะอย่าลืมว่าศิลปะได้สร้างความอ่อนโยนทางด้านจิตใจให้กับเด็กๆครับ”

อย่างไรก็ตามศ.พญ.อลิสาและคุณพลต่างมีความเห็นที่ตรงกันว่า “ศิลปะได้สร้างจินตนาการและพัฒนาทักษะด้านความคิดของเด็กๆได้เป็นอย่างดี แต่ศิลปะก็เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้นของเด็กๆเพราะอย่างที่บอกว่าเด็กแต่ละคนอาจชอบไม่เหมือนกัน เด็กบางคนอาจไม่ถนัดศิลปะ และเลือกที่จะเล่นกีฬา พ่อแม่ก็ควรส่งเสริมไปทางด้านนั้นๆแต่อย่าบังคับลูกจนเกินไป เพราะมิเช่นนั้นแล้ว เด็กๆอาจจะเบื่อในสิ่งที่เขารักก็เป็นได้ ทุกอย่างควรอยู่บนพื้นฐานของความพอดี โดยการส่งเสริมในด้านที่เขาถนัด แต่อาจเสริมกิจกรรมอื่นเพื่อความหลากหลายมากขึ้นก็ได้”

วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2552

ลูกชิ้นเด็กกุ๊กไก่ "งานวิจัย"วัยเยาว์



ลูกชิ้นเด็กกุ๊กไก่ "งานวิจัย"วัยเยาว์

คอลัมน์ สดจากเยาวชน




ลูกชิ้นของฉัน ลูกชิ้นของฉัน ท่าทางไม่ปลอดภัย...

เอ๊ะ! เสียงเพลงมาจากไหนนะ

เดินตามเสียงใสๆ ไปเรื่อยๆ จนถึงห้องอนุบาล 1/3 โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ ก็พบคำตอบ

เด็กๆ กำลังร้องเพลง "ลูกชิ้นของฉัน" ด้วยท่าทางสนุกสนาน น่ารัก สดใส นับเป็นการเริ่มต้นการเรียนรู้แบบโครงงาน (Project Approach) เรื่อง "ลูกชิ้น"

การเรียนรู้แบบโครงงาน หรือ Project Approach คุณครูจะให้นักเรียนออกมาเสนอหัวข้อที่สนใจหรืออยากเรียนรู้ โดยพูดคุยกันในชั้นเรียน เด็กๆ เสนอมาหลากหลายหัวข้อ เช่น เรื่องดิน ชมพู่ มะละกอ และลูกชิ้น คุณครูจึงทำกราฟแล้วให้เด็กๆ ออกมาติดชื่อตนเองในหัวข้อที่สนใจ

สรุปออกมาได้ว่า ลูกชิ้นเป็นเรื่องที่เด็กๆ สนใจมากที่สุด โดยเริ่มเรียนรู้จากประสบการณ์เดิมที่มีอยู่เรื่องลูกชิ้น ตั้งคำถามว่าสนใจและสงสัยอะไรเกี่ยวกับลูกชิ้น เช่น ลูกชิ้นคืออะไร ลูกชิ้นทำมาจากอะไร ลูกชิ้นมีกี่ชนิด ทำไมลูกชิ้นมีหลายสี ทำไมลูกชิ้นถึงเป็นลูกกลมๆ

จากนั้นให้เด็กๆ สืบค้น หาคำตอบ ทั้งจากอินเตอร์เน็ต พจนานุกรมและนิตยสารต่างๆ โดยหาภาพลูกชิ้น แล้วนำลูกชิ้นของจริงหลายชนิด มาร่วมพูดคุย สำรวจ เปรียบเทียบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในห้องเรียน

น้องสโนว์ ด.ญ.ชัญญา เตชะไกรศรี สาวน้อยเสียงใส ให้คำตอบว่า "ลูกชิ้นทำมาจากเนื้อสัตว์ และเครื่องปรุง มาบดผสมกัน เอามาปั้นแล้วลวกถึงจะรับประทานได้ ลูกชิ้นมีหลายชนิด มีทั้งลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นไก่ ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นปลาแซลมอน ลูกชิ้นปลาหน้าหมีแพนด้า ลูกชิ้นสาหร่าย และลูกชิ้นญี่ปุ่น"




การค้นคว้าในสัปดาห์นี้ เด็กๆ จะได้สำรวจลักษณะ ขนาด เปรียบเทียบความเหมือนความต่าง จากการสังเกตและการสัมผัส รวมทั้งทำศิลปะเกี่ยวกับลูกชิ้น เช่น ลูกชิ้นพิมพ์ภาพ กลิ้งสีด้วยลูกชิ้น ทำลูกชิ้นยักษ์จากกระดาษนิตยสาร และออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับลูกชิ้น

น้องพริมมี่ ด.ญ.พริม วรรณประภา นักออกแบบตัวยง เล่าว่า "ลูกชิ้นที่ซื้อในห้างสรรพสินค้าจะมีแบบห่อโฟมคลุมด้วยพลาสติก กับแบบห่อด้วยสุญญากาศ ซึ่งเก็บได้นานกว่า ที่โรงเรียนหนูได้วาดรูปลงบนถุงพลาสติก เพื่อเอาไว้ใส่ลูกชิ้นที่เราทำเสร็จแล้ว บนถุงต้องมีรูปหมู เพราะเป็นลูกชิ้นหมู ถ้าเป็นลูกชิ้นไก่ต้องวาดรูปไก่ลงไป ทำไว้หลายๆ ใบค่ะ เพื่อนๆ ในห้องก็ช่วยกันทำถุงใส่ลูกชิ้นทุกคนเลย"

หลังได้คำตอบว่าลูกชิ้นคืออะไรแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนลูกชิ้นทำอย่างไร น้องสโนว์เล่าประสบการณ์ที่ได้ลองทำลูกชิ้นปลาในห้องเรียนว่า "ต้องนำเนื้อปลามาบดก่อนแล้วใส่เกลือ บีบใส่หม้อต้ม สโนว์และเพื่อนๆ ปั้นลูกชิ้นใส่ในหม้อ พอสุกแล้วก็ได้ชิมฝีมือของหนูเอง อร่อยมากๆ พอกลับบ้านก็อยากให้คุณแม่ทำให้ทานที่บ้าน จะได้ไม่ต้องไปซื้อ ทำเองทั้งสะอาด ปลอดภัย ประหยัดด้วยค่ะ"




วันต่อมาคุณครูให้เด็กๆ เล่นบทบาทสมมติร้านขายลูกชิ้น เด็กช่วยกันจัดตั้งร้าน จัดวางลูกชิ้น ตกแต่งร้านให้สวยงาม และเรียนรู้เกี่ยวกับลูกชิ้นชนิดต่างๆ กันต่ออีก เด็กๆ และคุณครูร่วมกันหาลูกชิ้นชนิดต่างๆ ที่ยังไม่เคยเห็น นำมาสำรวจดูลักษณะ

น้องพริมมี่อธิบายลักษณะลูกชิ้นว่า "ลูกชิ้นรักบี้เป็นรูปยาว ไม่เป็นวงกลม เหมือนวงรี ลูกชิ้นปูอัดเป็นลูกกลมๆ สีชมพูอ่อน มีกลิ่นเหม็นคาว ลูกชิ้นกุ้งมีสีน้ำตาล แข็งๆ ไม่นิ่ม ลูกชิ้นเห็ดหอม เนื้อนิ่มๆ ลื่นๆ เหมือนลูกบอลลูกเล็ก ลูกชิ้นสาหร่าย รูปทรงกลมๆ ลื่นๆ มีหลายสี"

เมื่อเด็กๆ รู้จักลูกชิ้นทะลุปรุโปร่งแล้ว ก็ถึงเวลาหาความรู้นอกรั้วโรงเรียน คุณครูพาเด็กๆ ไปทัศนศึกษาที่ซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อค้นหาคำตอบว่าลูกชิ้นมีที่ไหนบ้าง

ที่นี่เด็กๆ ต่างตื่นตาตื่นใจที่ได้พบกับดินแดนแห่งลูกชิ้น เด็กๆ พากันเดินสำรวจรอบๆ รีบเดินหาลูกชิ้นเป้าหมายทันที คุณครูไม่รอช้ารีบแจกใบสำรวจลูกชิ้นให้เด็กๆ ทำเครื่องหมายว่าลูกชิ้นที่เห็นเป็นลูกชิ้นอะไร ราคาเท่าไหร่ ก่อนกลับก็ไม่พลาดซื้อลูกชิ้นกลับมาทำสุกี้ โดยคุณครูให้เด็กๆ ช่วยกันล้างทำความสะอาดลูกชิ้นและผัก

ได้ส่วนประกอบครบแล้ว พ่อครัวแม่ครัวตัวน้อยใส่ลูกชิ้นและผักลงหม้อ รอสุก เด็กๆ ร่วมรับประทานกันอย่างเอร็ดอร่อย

จากกิจกรรมต่างๆ ที่คุณครูจัดให้เด็กๆ ลงมือทำด้วยตนเองนั้น ทำให้เด็กๆ สนุกสนานและสนใจมากกว่าการนั่งฟังเฉยๆ ในห้องเรียน เด็กๆ มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างสรรค์จินตนาการในรูปแบบงานศิลปะ ทุกคนช่วยกันวาดรูปและแต่งนิทาน

น้องสโนว์เป็นตัวแทนเล่านิทานเรื่องลูกชิ้นจอมซนว่า "มีลูกชิ้นจอมซน ไม่เชื่อฟัง หนีพ่อแม่มาเดินเล่นในป่าใหญ่โดยลำพัง เกิดหลงทางในป่ากลับบ้านไม่ถูก แต่ว่าโชคดี มีนกตัวใหญ่บินผ่านมา จึงช่วยลูกชิ้นจอมซนไว้ แล้วส่งกลับถึงบ้านในทันใด หลังจากนั้นลูกชิ้นจึงไม่กล้าซุกซนอีก และเชื่อฟังพ่อแม่ ไม่กล้าหนีเที่ยวไปไกลอีกแล้ว"

สัปดาห์สุดท้ายของการเรียนรู้ คุณครูกับลูกศิษย์ตัวน้อยร่วมกันสรุปสิ่งต่างๆ ที่เรียนรู้มา นำมาจัดนิทรรศการให้ชมกัน เด็กๆ ร่วมกันตกแต่งห้องเรียน นำสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างไว้จัดวางตามมุมต่างๆ ในห้อง ช่วยกันปั้นลูกชิ้นด้วยดินน้ำมันสำหรับเป็นของที่ระลึกให้ผู้ปกครองที่มาเยี่ยมชม

เสียงวิทยากรรุ่นเยาว์บอกเล่าเรื่องราวของลูกชิ้นให้ท่านผู้ชมฟังอย่างน่าเอ็นดู
……………

วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552

เลิกพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กได้ด้วย 3 ขั้นตอน





เด็กมักถูกมองว่าไม่น่ารัก หากพวกเขาแสดงพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่เรียกว่า "ก้าวร้าว" ออกมา ดังนั้นก่อนที่จะยอมปล่อยให้ลูก ๆ กลายเป็นคนไม่น่ารักในสายตาของผู้ใหญ่รอบข้าง ลองหันมา ลด ละ เลิก พฤติกรรมเหล่านั้นในเด็กกันดูดีไหมคะ เริ่มต้นจาก

- สอนให้เด็กตระหนักถึงสิ่งที่เขาทำลงไปว่า "ไม่น่ารักเลย" ทั้งนี้ ผู้สอน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ญาติผู้ใหญ่ หรือคุณครู ควรทำด้วยอาการสงบ สุภาพ และจี้ให้ตรงจุดถึงพฤติกรรมที่เขาแสดงออกด้วย ยกตัวอย่างการก้าวร้าวทางวาจา เราอาจแบ่งแยกสิ่งที่เด็กต้องการจะสื่อสารออกมาแบ่งออกได้เป็นสองส่วน ก็คือ เนื้อหา และวิธีการ ซึ่งในกรณีนี้ ถ้า "เนื้อหา" ที่เด็กพูดออกมาเป็นคำหยาบคาย ก็ไม่ต้องสนใจวิธีการสื่อสารแล้ว เพราะถึงอย่างไร มันก็คือการแสดงความหยาบคาย

ยกตัวอย่างเช่น ด.ช.เก่ง บอกกับคุณป้าที่ซื้อหุ่นยนต์มาฝากว่า "หุ่นยนต์ที่ป้าซื้อมาฝากเก่งไม่เห็นจะดี/สวยเลย สู้ของ...ก็ไม่ได้" คุณป้าฟังวาจาหลานแล้วคงเดือดปุด ๆ อยากจะริบของคืนไว ๆ ของก็ซื้อมาฝาก ไม่ชอบแล้วยังมาว่ากันเสียอีก

ในกรณีนี้ ถ้ามีคุณแม่หรือผู้ใหญ่ท่านอื่นอยู่ในละแวกใกล้เคียง ควรจะพา ด.ช.เก่ง ตัวแสบออกมาคุยกันข้างนอก เพื่อสอนเขาว่า เขาอาจจะไม่ชอบของขวัญนั้นเลย แต่ก็ไม่ควรพูดทำร้ายความรู้สึกของคนอื่น ถ้าลูกไม่ชอบ ก็แค่ขอบคุณคุณป้าที่คุณป้านึกถึง และซื้อของขวัญมาฝาก

การสอนให้เด็กแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ นอกจากจะสุภาพ ไม่ทำให้ใครเสียน้ำใจแล้ว ยังช่วยให้เด็กมองเห็นถึงทางออกอย่างเหมาะสมด้วย และไม่จำเป็นต้องสอนให้เด็กโกหกว่า ชอบของเล่นชิ้นนั้นมากเพื่อคุณป้ายิ้มแก้มปริ ทั้ง ๆ ที่เด็กไม่ได้ชอบมันเลย
อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของ เนื้อหาที่เด็กพูดออกมา แม้จะไม่มีการใช้คำหยาบคายเลย แต่เมื่อเจอเข้ากับวิธีการนำเสนอของเด็ก ก็อาจทำให้ผู้ปกครองฟังแล้วรู้สึกว่ามันแฝงไปด้วยความก้าวร้าวก็เป็นได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ผู้ปกครองก็อาจต้องเข้ามาดูแลในส่วนของ "การนำเสนอ" ความรู้สึกนึกคิดของเด็กผ่านทางวาจา

ยกตัวอย่างเช่น น้องอ้ออายุ 4 ขวบกำลังเล่นอยู่กับคุณยาย แล้วมีของเล่นชิ้นหนึ่งที่อยู่ไกลตัวออกไป น้องอ้อก็เลยบอกให้คุณยายหยิบของเล่นชิ้นนั้นให้เธอ โดยใช้ประโยคว่า "หยิบตุ๊กตาให้หน่อย" เพียงห้วน ๆ สั้น ๆ ประโยคนี้ไม่มีคำหยาบคายปรากฏก็จริง แต่รู้สึกได้ถึงความก้าวร้าวที่แอบแฝงอยู่

แต่ก็มีคุณยายหลายคน ยิ้มอย่างเอ็นดูและทำตามคำสั่งของหลาน ซึ่งอาจจะดีกว่า หากคุณยายสอนให้หลานเข้าใจว่า ควรจะใช้คำพูด และกิริยาแบบใดกับผู้ใหญ่จึงจะเหมาะสม เพราะแค่คุณยายสอนน้องอ้อว่าควรเปลี่ยนประโยคเป็น "คุณยายขา คุณยายช่วย/กรุณา หยิบตุ๊กตาให้อ้อด้วยได้ไหมคะ" และเมื่อได้ของเล่นชิ้นโปรดแล้ว ก็ต้องยกมือไหว้พร้อมกล่าวคำว่า "ขอบคุณค่ะ" หลานก็จะเป็นเด็กน่ารักมากขึ้นอีกมากมาย

- ปรับพฤติกรรมผู้ปกครองให้เป็นต้นแบบของลูก เมื่อทำให้เด็กตระหนักได้ถึงความก้าวร้าวแล้ว อีกคนหนึ่งที่ต้องตระหนัก หรือเตือนสติตัวเองบ่อย ๆ ก็คือตัวผู้ปกครองนั่นเอง ว่าสิ่งที่ผู้ปกครองประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกวันนั้น เป็นพฤติกรรมที่ก้าวร้าวหรือไม่ เพราะมีโอกาสที่เด็กจะซึมซับพฤติกรรมของพ่อแม่ผู้ปกครองเอาไว้ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ - สถานการณ์แบบเดียวกันขึ้น เด็กก็อาจจะดึงประสบการณ์ที่จดจำมาจากผู้ปกครองมาใช้โดยไม่รู้ตัว



ยกตัวอย่างเช่น เวลาขับรถยนต์บนท้องถนนในกรุงเทพฯ แล้วถูกรถคันอื่นปาดหน้า พ่อแม่จำนวนไม่น้อย เผลอสบถคำหยาบคายออกมาให้ลูกฟัง โอกาสที่ลูกจะจดจำ และนำมาใช้บ้างเมื่อเขาโตมากขึ้นก็มีสูง

ในจุดนี้ ถ้าพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกโตขึ้นแล้วเป็นเหมือนตัวเอง หรือต้องมาอารมณ์เสียเพราะลูกใช้ถ้อยคำประชดประชัน เสียดสีย้อนกลับเข้าหาตัวพ่อแม่เอง สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ ตระหนักถึงพฤติกรรมของตัวเอง และปรับให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง ใช้คำพูดสุภาพ เป็น "ตัวอย่าง" ที่ดีของลูก

- สุดท้าย ปลูกฝังลูกให้ทำตามในสิ่งที่เหมาะที่ควร โดยมีพ่อแม่เป็นบุคคลต้นแบบ (ที่ดีที่สุด) เช่น สอนให้ลูกฝึกใช้คำพูดสุภาพอย่างต่อเนื่อง สอนการควบคุมโทนเสียงให้น่าฟัง

กรณีนี้อาจสร้างเงื่อนไขให้เด็กปฏิบัติตาม เช่น ถ้าเด็กอยากทานขนมมากขึ้น ๆ ตามมาด้วยการส่งเสียงร้องกรี๊ด ๆ ลงไปดิ้น หรือทุบตีพ่อแม่ พ่อแม่ต้องอดทน และบอกกับเขาว่า

"ถ้าอยากทานขนมก็ต้องบอกว่าอย่างไรคะ แม่ขา หนูขอทานขนมได้ไหมคะ"

ถ้ายาขั้นแรกยังไม่แรงพอ เด็กแสบยังเมิน ไม่อยากทำตามที่สอน ก็อาจให้พ่อแม่รุกหนักอีกรอบ โดยการพูดกับลูก ๆ อย่างสงบว่า "ถ้าหนูไม่พูดเพราะ ๆ กับแม่ แม่ก็ไม่มีขนมให้หนูนะ"

แป๊บเดียว ไม่นานเกินรอ เดี๋ยวก็มีเสียงอ่อย ๆ มาเองว่า

"ตกลงค่ะ แม่ขา หนูขอทานขนมได้ไหมคะ"

สุดท้ายถ้าเด็กยอมพูดตามเงื่อนไข พ่อแม่เพียงแค่ตบท้ายด้วยประโยคดี ๆ เช่น "ได้จ้ะ ถ้าหนูพูดกับแม่เพราะ ๆ แบบนี้ แม่ก็รู้สึกดีที่จะให้หนูทานขนมแล้วล่ะ"

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กยังอาจเกิดขึ้นได้จากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวอีกมากมาย เช่น ละครโทรทัศน์หลังข่าว รายการตลก เกมโชว์ เกมวาไรตี้ การ์ตูน ภาพยนตร์ การคบเพื่อน หรือแม้กระทั่งดูถ่ายทอดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรฯลฯ เพราะฉะนั้น พ่อแม่ควรมีกำลังใจ (อย่างมาก) ในการปลูกฝังพฤติกรรมดี ๆ ของสุภาพชนให้ลูกในยุค 2009 ค่ะ

วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2552

รับมือช่วงปิดเทอม หาวิธีป้องกันเหตุไม่คาดฝัน






ช่วงนี้โรงเรียนต่างๆเริ่มทยอยปิดภาคเรียนแล้ว เด็กส่วนใหญ่จึงมักพักผ่อนและทำกิจกรรมต่างๆอยู่ที่บ้าน ซึ่งแม้ว่าบ้านจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยมากที่สุดก็ตาม แต่จากการศึกษาการเกิดอุบัติเหตุในเด็ก กลับพบว่า บ้านเป็นสถานที่ที่มักเกิดอุบัติเหตุกับเด็กที่อยู่ในวัยซุกซน เนื่องจากเด็กไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นอันตรายกับตนเองได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จึงขอแนะนำวิธีการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กภายในบ้าน ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ดังนี้

1.บริเวณภายในบ้าน ประตูหน้าต่าง ควรติดตั้งเหล็กกั้นหรือที่ยึดประตู เพื่อป้องกันประตูหนีบ รวมทั้งที่ครอบลูกบิด เพื่อป้องกันเด็กกดลูกบิดเล่น ทำให้ประตูปิดล็อกจนไม่สามารถออกมาได้ ระเบียงบ้าน ควรติดตั้งที่กั้นแบบปิดทึบและหนาแน่น ระยะห่างระหว่างลูกกรงไม่ควรถี่เกินไปเพราะอาจทำให้ศีรษะ แขน ขาของเด็กเข้าไปติดและต้องไม่เว้นช่องห่างเกินไป อาจทำให้เด็กอาจพลัดตกลงไปได้ บันได ควรติดตั้งที่กั้นบริเวณราวบันได โดยช่องห่างระหว่างราวบันไดไม่ควรห่างเกินไป เพื่อป้องกันเด็กพลัดตก อีกทั้งไม่ควรวางของตามขั้นบันได เพราะเด็กอาจเหยียบจนลื่นล้มตกบันได



2.ปลั๊กไฟ ควรหาที่ครอบปลั๊กไฟและติดตั้งปลั๊กไฟบนที่สูงหรือในระดับที่เด็กเอื้อมไม่ถึง เพื่อป้องกันเด็กเอานิ้วหรือวัตถุอื่นแหย่เล่น ทำให้ถูกไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช๊อต

3.พัดลม ควรเลือกใช้พัดลมที่มีขาตั้งสูงและมีฝาครอบป้องกันที่ปิดล๊อกอย่างแน่นหนา เพื่อไม่ให้เด็ก เอามือไปจับใบพัด ทำให้โดนใบพัดบาด และเมื่อใช้งานเสร็จแล้วควรถอดปลั๊กออกทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันเด็กเปิดพัดลมเล่นและเอานิ้วแหย่เข้าไปในพัดลมที่ใบพัดกำลังหมุนอยู่ห้องครัว อุปกรณ์เครื่องครัว ควรจัดเก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยเฉพาะของมีคมที่สามารถใช้เป็นอาวุธได้ เช่น มีด ส้อม ควรเก็บในที่มิดชิด กระติกน้ำร้อนและกาต้มน้ำ ควรวางบนโต๊ะหรือบนชั้นเหล็กที่มีสภาพมั่นคง แข็งแรง และเด็กไม่สามารถเอื้อมถึงได้ รวมถึงไม่ควรวางบนโต๊ะที่มีผ้าคลุมโต๊ะที่ปล่อยชายยาวออกมา เพราะเด็กอาจดึงชายผ้าทำให้น้ำร้อนหกลวกตัวเด็ก



4.ห้องน้ำ พื้นห้องน้ำ ควรใช้กระเบื้องที่มีผิวขรุขระหรือมีลักษณะด้าน ไม่ควรใช้กระเบื้องที่มีลักษณะมันวาว เพราะหากเปียกน้ำจะยิ่งลื่น ทำให้หกล้มได้รับบาดเจ็บ อีกทั้งควรปูพรมยางหรือพรมเช็ดเท้าบริเวณหน้าห้องน้ำ เพื่อป้องกันเด็กลื่นล้ม หลังจากใช้ห้องน้ำเสร็จแล้ว ควรปิดประตูทุกครั้ง ไม่ปล่อยให้เด็กเข้าห้องน้ำตามลำพังเพราะอาจลื่นล้มหรือจมน้ำเสียชีวิตจากการลงไปเล่นในถังหรืออ่างน้ำ ควรปิดภาชนะกักเก็บน้ำอย่างมิดชิด เพื่อป้องกันเด็กหัวทิ่มลงน้ำและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้ปลอดภัยได้

ทั้งนี้ จุดเสี่ยงอันตรายอื่นๆภายในบ้าน เช่น จุดวางสารเคมี ได้แก่ น้ำยาทำความสะอาดพื้น น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ ผงซักฟอก ยาฆ่าแมลง และสารเคมีต่างๆ หลังใช้งานเสร็จแล้วต้องปิดฝาให้เรียบร้อย แน่นหนา จุดวางเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น กรรไกรตัดกิ่งไม้ ตะปู ค้อน หรือวัตถุที่มีลักษณะแหลมคม ควรเก็บในที่มิดชิด นอกจากนี้ ควรเก็บยารักษาโรคไว้บนที่สูงหรือในที่ที่เด็กไม่สามารถหยิบได้ เช่น ตู้วางของ หรือตู้ยาสามัญประจำบ้าน เพราะเด็กอาจนำไปรับประทานจนเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต



บริเวณนอกบ้าน บ่อน้ำหรือสระน้ำ ไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นบริเวณดังกล่าวโดยลำพัง เพราะเสี่ยงต่อการตกน้ำ ลานจอดรถ เป็นสถานที่มีความเสี่ยงมากสำหรับเด็ก เนื่องจากเป็นลานกว้างที่เด็กมักใช้เป็นสถานที่เล่น ควรสอนมิให้เด็กเล่นบริเวณดังกล่าว และรู้อันตรายของรถ หากมีรถเข้า-ออกจากบ้าน ควรให้เด็กอยู่ห่างจากรถมากที่สุด รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในการถอยรถเข้า-ออกจากบ้าน ถนนหน้าบ้าน เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเพราะมักมีรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์วิ่งผ่าน จึงไม่ควรให้เด็กเล่นบริเวณดังกล่าว เพราะอาจถูกรถเฉี่ยวชนได้รับบาดเจ็บได้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าบ้านจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด แต่หากขาดความเอาใจใส่ดูแลสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบบ้าน รวมถึงการดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษแล้ว บ้านก็อาจเป็นสถานที่ที่ก่อให้เกิดอันตรายสำหรับเด็กได้ ดังนั้น การดูแลสภาพแวดล้อมในบ้านและบริเวณรอบบ้านให้ปลอดภัย โดยจัดเก็บสิ่งของให้เป็นระเบียบ เรียบร้อย และระมัดระวังภัยต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายกับเด็ก และทำให้ช่วงปิดภาคเรียนเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและสนุกสนานของเด็ก

วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2552

ผลวิจัยชี้เด็กใจร้อนแต่เล็ก แนวโน้มข้องแวะการพนัน


รอยเตอร์ – นักวิจัยแคนาดาระบุเด็กอนุบาลที่ครูระบุว่ามีพฤติกรรม ‘หุนหันพลันแล่น’ มีแนวโน้มชอบการเสี่ยงโชค เช่น เล่นไพ่หรือพนันขันต่อก่อนก้าวเข้าสู่วัยรุ่น

ลินดา ปากานี ผู้นำการวิจัยจากศูนย์วิจัยของเซนต์-จัสติน ยูนิเวอร์ซิตี้ ฮอสปิตอล และมหาวิทยาลัยมอนทรีอัล ชี้ว่าการศึกษาที่ตีพิมพ์ในอาร์ไคฟ์ส ออฟ เพเดรียทริกส์ แอนด์ อะโดเลสเซนต์ เมดิซิน เป็นการศึกษาชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นพฤติกรรมการเสี่ยงโชคในหมู่เด็กเล็ก

ปากานีเสริมว่า ผลการศึกษานี้เป็นการเพิ่มการพนันขันต่อลงในรายการปัญหาพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความใจร้อนของเด็กเล็ก ซึ่งรวมถึงการทำผิดกฎ เรียนไม่จบชั้นมัธยม ปัญหาสุขภาพจิต และการติดยาเสพติดเมื่อโตขึ้น

นักวิจัยได้ขอให้ครูโรงเรียนอนุบาล 163 คน ทำแบบสอบถามเมื่อเปิดภาคเรียน เพื่อให้คะแนนความไม่สนใจเรียน และอาการสมาธิสั้นของนักเรียน

หกปีต่อมา เมื่อเด็กมีอายุเฉลี่ย 11.5 ปี นักวิจัยจะทำการสัมภาษณ์เด็กทางโทรศัพท์เพื่อสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการเสี่ยงโชค เช่น การเล่นไพ่หรือบิงโก การซื้อล็อตเตอรี่ เล่นวิดีโอเกมหรือวิดีโอเกมโป๊กเกอร์กินเงิน หรือพนันผลการแข่งขันกีฬาระหว่างนั่งดูข้างสนาม หรือพนันกับเพื่อน

หลังจากควบคุมปัจจัยต่างๆ เช่น องค์ประกอบของครอบครัว การศึกษาของพ่อแม่ และรายได้ของครอบครัว นักวิจัยพบว่าความหุนหันพลันแล่นที่เพิ่มขึ้นทุกหนึ่งคะแนนสมัยเรียนอนุบาล เพิ่มแนวโน้มในการเกี่ยวข้องกับการพนันเมื่อเด็กอยู่เกรดหกถึง 25%

ปากานีสำทับว่า เด็กที่เริ่มเล่นการพนันในช่วงวัยรุ่นมีแนวโน้มมีปัญหาเกี่ยวกับการเสี่ยงโชครุนแรงเมื่อเป็นผู้ใหญ่

อย่างไรก็ตาม ดร.ทิโมธี ฟอง จากแกมบลิง สตัดดี้ส์ โปรแกรม แอนด์ อิมพัลส์ คอนโทรล ดิสออร์เดอร์ คลินิก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-ลอสแองเจลีส กล่าวว่าผู้ปกครองควรตระหนักว่า ความใจร้อนและการเล่นพนันตั้งแต่เด็กไม่ได้หมายความว่าเด็กจะมีปัญหาพฤติกรรมร้ายแรงเมื่อเป็นผู้ใหญ่เสมอไป

แต่สิ่งที่งานศึกษาชิ้นนี้นำเสนอคือ หลักฐานที่ชัดเจนขึ้นที่บ่งชี้วิธีการที่พฤติกรรมการพนันก่อตัวขึ้นมาคือตั้งแต่ช่วงก่อนวัยรุ่นด้วยซ้ำ
......

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2552

5 แนวทางสอนคิด เติม"วิทย์"ให้เด็กอนุบาล





วิทยาศาสตร์เป็นยาขมสำหรับเด็ก ๆ จริงหรือ ? ถ้าเด็ก ๆ เรียนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจะยากเกินไปไหม ? ควรจะให้เด็ก ๆ อนุบาลเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างไร ? คำถามเหล่านี้ต่างพ่อแม่ผู้ปกครอง และแม้แต่คุณครูเองก็ยังสงสัยอยู่

แท้จริงแล้ววิทยาศาสตร์คือความพยายามของมนุษย์ที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสิ่งรอบตัวและตัวตนของตนเอง ซึ่งความพยายามเช่นนี้จะติดตัวกับมนุษย์เรามาตั้งแต่แรกเกิด เห็นได้จากธรรมชาติของเด็กที่มีความอยากรู้อยากเห็น ช่างสังเกตและคอยซักถามเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาเจอ และบางครั้งก็เป็นคำถามที่ยากเกินกว่าที่ผู้ใหญ่จะให้คำตอบ

ผู้ใหญ่หลายคนที่ไม่เข้าใจในธรรมชาติความเป็นนักวิทยาศาสตร์ตัวน้อยๆ ของเด็ก จึงปิดกั้นโอกาสทางการเรียนรู้ของพวกเขาโดยการไม่ให้ความสนใจกับคำถามและการค้นพบแบบเด็กๆ หรือไม่ได้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่จะส่งเสริมและต่อยอดทักษะและแนวคิดที่ถูกต้องให้กับเด็กอย่างเหมาะสม ซึ่งนั่นทำให้การพัฒนาทักษะของเด็กต้องขาดตอนไปอย่างน่าเสียดาย

ดร. วรนาท รักสกุลไทย นักการศึกษาปฐมวัย ผู้อำนวยการโรงเรียนเกษมพิทยา (ฝ่ายอนุบาล) กล่าวว่า "เราคงทราบดีกันอยู่แล้วว่าวิทยาศาสตร์มีความสำคัญเพียงใด แต่สำหรับเด็กอนุบาล แนวทางการสอนต่างหากที่จะทำให้เด็กสนใจ สิ่งสำคัญที่สุดคือครูต้องแม่นยำในพัฒนาการของเด็ก เพื่อที่จะสามารถจัดการเรียนรู้ได้สอดคล้องกับความสามารถของเด็ก รวมถึงต้องอย่าลืมเรื่องจินตนาการที่มีอยู่สูงในเด็กวัยนี้"

ทั้งนี้ การส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในด้านวิทยาศาสตร์นั้น อาจไม่จำเป็นต้องแยกออกมาสอนเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ และอาจไม่ต้องกล่าวคำว่าวิทยาศาสตร์เมื่อให้เด็กทำกิจกรรมเลยด้วยซ้ำ เพียงแต่ครูปฐมวัยควรจะตระหนักรู้ว่ากิจกรรมที่จัดให้กับเด็กในแต่ละช่วงเวลานั้น เป็นการส่งเสริมทักษะและแนวคิดทางวิทยาศาสตร์อะไรให้กับเด็กๆ และควรจะจัดกิจกรรมอย่างไรเพื่อจะสามารถตอบสนองและต่อยอดธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างเป็นระบบ

ดร.เทพกัญญา พรหมขัติแก้ว นักวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์ประถมศึกษา สสวท. กล่าวถึงแนวทางในการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กอนุบาลว่า "แนวทางของ สสวท.คือต้องการให้คุณครูบูรณาการวิทยาศาสตร์เข้าไปในการเรียนการสอนปกติของเด็ก ๆ ซึ่งครูและนักการศึกษาปฐมวัยอาจจะมีคำถามว่า จะต้องแยกวิทยาศาสตร์ออกมาเป็นอีกวิชาหนึ่งไหม จริง ๆ คือไม่ต้อง เพราะการเรียนรู้ในระดับปฐมวัยจะเน้นการเรียนรู้แบบองค์รวม ไม่ต้องแยกเป็นวิชา เพราะวิทยาศาสตร์คือกระบวนการการเรียนรู้ อยากให้คุณครูมองว่า มันคือการเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัวของเด็กๆ"

"สำหรับปัญหาที่พบในขณะนี้ก็คือ บางครั้งเด็กมีคำถาม แล้วครูตอบไม่ได้ เพราะเราก็ต้องเข้าใจครูปฐมวัยด้วยว่า อาจไม่มีพื้นฐานในสายวิทย์มากนัก ดังนั้นเมื่อครูเกิดตอบคำถามเด็กไม่ได้ก็จะเกิดหลายกรณีตามมา เช่น ครูบอกเด็กว่า เธออย่าถามเลย เด็กก็ถูกปิดกั้นการเรียนรู้ไปเสียอีก กับอีกแบบคือ ครูตอบคำถามเด็ก ซึ่งกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ควรจะเป็นการเรียนรู้ไปด้วยกัน ให้เด็กหาคำตอบด้วยตัวเอง ไม่ใช่รอให้ครูหามาป้อน และถ้าครูตอบผิด เด็กก็อาจจำไปผิด ๆ ได้"

นอกจากนี้ ดร.เทพกัญญา ยังได้ให้แนวทางในการ "สืบเสาะความรู้ทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก" อันประกอบแนวทางปฏิบัติ 5 ข้อดังนี้

1. ตั้งคำถามที่เด็กสามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง เช่น คำถามเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว หรือโลกของเรา

2. ออกไปหาคำตอบด้วยกัน เนื่องจากคำถามในระดับเด็กอนุบาลมักจะเปิดกว้าง ดังนั้นการค้นหาคำตอบอาจมีครูคอยช่วยจัดประสบการณ์ให้เด็กตามที่เขาตั้งขึ้น

3. เมื่อขั้นสองสำเร็จ เด็กจะเอาสิ่งที่เขาค้นพบมาไปตอบคำถามของเขาเอง ในขั้นนี้คุณครูอาจช่วยเสริมในแง่ของความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือในด้านของเหตุและผล

4. นำเสนอสิ่งที่เขาสำรวจตรวจสอบมาแล้วให้กับเพื่อน ๆ

5. การนำสิ่งที่เด็กค้นพบคำตอบนั้นไปเชื่อมโยงกับคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์

สำหรับข้อ 5 นั้น ดร.เทพกัญญากล่าวว่า ในระดับเด็กอนุบาลอาจยังไม่สามารถก้าวไปถึงจุดนั้นได้ อาจต้องเป็นเด็กชั้นประถมศึกษาขึ้นไป แต่คุณครูก็ไม่ควรละเลย หากมีเด็กอนุบาลบางคนเข้าใจ คุณครูก็อาจช่วยให้เขาสามารถอธิบายได้แบบวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าไม่ถึงก็ไม่จำเป็นต้องเคี่ยวเข็ญเด็ก ๆ แต่อย่างใด

ไม่เพียงแต่คุณครูและโรงเรียนที่จะเป็นผู้ส่งเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเด็ก ๆ แต่พ่อและแม่เองนั้นก็มีบทบาทมากเช่นกัน แนวทางดี ๆ ข้างต้น อาจเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้เด็ก ๆ และครอบครัวในยุคต่อไปเข้าใจ และรักใน "วิทยาศาสตร์" ได้มากขึ้นก็เป็นได้ค่ะ