วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552

เลิกพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กได้ด้วย 3 ขั้นตอน





เด็กมักถูกมองว่าไม่น่ารัก หากพวกเขาแสดงพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่เรียกว่า "ก้าวร้าว" ออกมา ดังนั้นก่อนที่จะยอมปล่อยให้ลูก ๆ กลายเป็นคนไม่น่ารักในสายตาของผู้ใหญ่รอบข้าง ลองหันมา ลด ละ เลิก พฤติกรรมเหล่านั้นในเด็กกันดูดีไหมคะ เริ่มต้นจาก

- สอนให้เด็กตระหนักถึงสิ่งที่เขาทำลงไปว่า "ไม่น่ารักเลย" ทั้งนี้ ผู้สอน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ญาติผู้ใหญ่ หรือคุณครู ควรทำด้วยอาการสงบ สุภาพ และจี้ให้ตรงจุดถึงพฤติกรรมที่เขาแสดงออกด้วย ยกตัวอย่างการก้าวร้าวทางวาจา เราอาจแบ่งแยกสิ่งที่เด็กต้องการจะสื่อสารออกมาแบ่งออกได้เป็นสองส่วน ก็คือ เนื้อหา และวิธีการ ซึ่งในกรณีนี้ ถ้า "เนื้อหา" ที่เด็กพูดออกมาเป็นคำหยาบคาย ก็ไม่ต้องสนใจวิธีการสื่อสารแล้ว เพราะถึงอย่างไร มันก็คือการแสดงความหยาบคาย

ยกตัวอย่างเช่น ด.ช.เก่ง บอกกับคุณป้าที่ซื้อหุ่นยนต์มาฝากว่า "หุ่นยนต์ที่ป้าซื้อมาฝากเก่งไม่เห็นจะดี/สวยเลย สู้ของ...ก็ไม่ได้" คุณป้าฟังวาจาหลานแล้วคงเดือดปุด ๆ อยากจะริบของคืนไว ๆ ของก็ซื้อมาฝาก ไม่ชอบแล้วยังมาว่ากันเสียอีก

ในกรณีนี้ ถ้ามีคุณแม่หรือผู้ใหญ่ท่านอื่นอยู่ในละแวกใกล้เคียง ควรจะพา ด.ช.เก่ง ตัวแสบออกมาคุยกันข้างนอก เพื่อสอนเขาว่า เขาอาจจะไม่ชอบของขวัญนั้นเลย แต่ก็ไม่ควรพูดทำร้ายความรู้สึกของคนอื่น ถ้าลูกไม่ชอบ ก็แค่ขอบคุณคุณป้าที่คุณป้านึกถึง และซื้อของขวัญมาฝาก

การสอนให้เด็กแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ นอกจากจะสุภาพ ไม่ทำให้ใครเสียน้ำใจแล้ว ยังช่วยให้เด็กมองเห็นถึงทางออกอย่างเหมาะสมด้วย และไม่จำเป็นต้องสอนให้เด็กโกหกว่า ชอบของเล่นชิ้นนั้นมากเพื่อคุณป้ายิ้มแก้มปริ ทั้ง ๆ ที่เด็กไม่ได้ชอบมันเลย
อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของ เนื้อหาที่เด็กพูดออกมา แม้จะไม่มีการใช้คำหยาบคายเลย แต่เมื่อเจอเข้ากับวิธีการนำเสนอของเด็ก ก็อาจทำให้ผู้ปกครองฟังแล้วรู้สึกว่ามันแฝงไปด้วยความก้าวร้าวก็เป็นได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ผู้ปกครองก็อาจต้องเข้ามาดูแลในส่วนของ "การนำเสนอ" ความรู้สึกนึกคิดของเด็กผ่านทางวาจา

ยกตัวอย่างเช่น น้องอ้ออายุ 4 ขวบกำลังเล่นอยู่กับคุณยาย แล้วมีของเล่นชิ้นหนึ่งที่อยู่ไกลตัวออกไป น้องอ้อก็เลยบอกให้คุณยายหยิบของเล่นชิ้นนั้นให้เธอ โดยใช้ประโยคว่า "หยิบตุ๊กตาให้หน่อย" เพียงห้วน ๆ สั้น ๆ ประโยคนี้ไม่มีคำหยาบคายปรากฏก็จริง แต่รู้สึกได้ถึงความก้าวร้าวที่แอบแฝงอยู่

แต่ก็มีคุณยายหลายคน ยิ้มอย่างเอ็นดูและทำตามคำสั่งของหลาน ซึ่งอาจจะดีกว่า หากคุณยายสอนให้หลานเข้าใจว่า ควรจะใช้คำพูด และกิริยาแบบใดกับผู้ใหญ่จึงจะเหมาะสม เพราะแค่คุณยายสอนน้องอ้อว่าควรเปลี่ยนประโยคเป็น "คุณยายขา คุณยายช่วย/กรุณา หยิบตุ๊กตาให้อ้อด้วยได้ไหมคะ" และเมื่อได้ของเล่นชิ้นโปรดแล้ว ก็ต้องยกมือไหว้พร้อมกล่าวคำว่า "ขอบคุณค่ะ" หลานก็จะเป็นเด็กน่ารักมากขึ้นอีกมากมาย

- ปรับพฤติกรรมผู้ปกครองให้เป็นต้นแบบของลูก เมื่อทำให้เด็กตระหนักได้ถึงความก้าวร้าวแล้ว อีกคนหนึ่งที่ต้องตระหนัก หรือเตือนสติตัวเองบ่อย ๆ ก็คือตัวผู้ปกครองนั่นเอง ว่าสิ่งที่ผู้ปกครองประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกวันนั้น เป็นพฤติกรรมที่ก้าวร้าวหรือไม่ เพราะมีโอกาสที่เด็กจะซึมซับพฤติกรรมของพ่อแม่ผู้ปกครองเอาไว้ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ - สถานการณ์แบบเดียวกันขึ้น เด็กก็อาจจะดึงประสบการณ์ที่จดจำมาจากผู้ปกครองมาใช้โดยไม่รู้ตัว



ยกตัวอย่างเช่น เวลาขับรถยนต์บนท้องถนนในกรุงเทพฯ แล้วถูกรถคันอื่นปาดหน้า พ่อแม่จำนวนไม่น้อย เผลอสบถคำหยาบคายออกมาให้ลูกฟัง โอกาสที่ลูกจะจดจำ และนำมาใช้บ้างเมื่อเขาโตมากขึ้นก็มีสูง

ในจุดนี้ ถ้าพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกโตขึ้นแล้วเป็นเหมือนตัวเอง หรือต้องมาอารมณ์เสียเพราะลูกใช้ถ้อยคำประชดประชัน เสียดสีย้อนกลับเข้าหาตัวพ่อแม่เอง สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ ตระหนักถึงพฤติกรรมของตัวเอง และปรับให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง ใช้คำพูดสุภาพ เป็น "ตัวอย่าง" ที่ดีของลูก

- สุดท้าย ปลูกฝังลูกให้ทำตามในสิ่งที่เหมาะที่ควร โดยมีพ่อแม่เป็นบุคคลต้นแบบ (ที่ดีที่สุด) เช่น สอนให้ลูกฝึกใช้คำพูดสุภาพอย่างต่อเนื่อง สอนการควบคุมโทนเสียงให้น่าฟัง

กรณีนี้อาจสร้างเงื่อนไขให้เด็กปฏิบัติตาม เช่น ถ้าเด็กอยากทานขนมมากขึ้น ๆ ตามมาด้วยการส่งเสียงร้องกรี๊ด ๆ ลงไปดิ้น หรือทุบตีพ่อแม่ พ่อแม่ต้องอดทน และบอกกับเขาว่า

"ถ้าอยากทานขนมก็ต้องบอกว่าอย่างไรคะ แม่ขา หนูขอทานขนมได้ไหมคะ"

ถ้ายาขั้นแรกยังไม่แรงพอ เด็กแสบยังเมิน ไม่อยากทำตามที่สอน ก็อาจให้พ่อแม่รุกหนักอีกรอบ โดยการพูดกับลูก ๆ อย่างสงบว่า "ถ้าหนูไม่พูดเพราะ ๆ กับแม่ แม่ก็ไม่มีขนมให้หนูนะ"

แป๊บเดียว ไม่นานเกินรอ เดี๋ยวก็มีเสียงอ่อย ๆ มาเองว่า

"ตกลงค่ะ แม่ขา หนูขอทานขนมได้ไหมคะ"

สุดท้ายถ้าเด็กยอมพูดตามเงื่อนไข พ่อแม่เพียงแค่ตบท้ายด้วยประโยคดี ๆ เช่น "ได้จ้ะ ถ้าหนูพูดกับแม่เพราะ ๆ แบบนี้ แม่ก็รู้สึกดีที่จะให้หนูทานขนมแล้วล่ะ"

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กยังอาจเกิดขึ้นได้จากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวอีกมากมาย เช่น ละครโทรทัศน์หลังข่าว รายการตลก เกมโชว์ เกมวาไรตี้ การ์ตูน ภาพยนตร์ การคบเพื่อน หรือแม้กระทั่งดูถ่ายทอดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรฯลฯ เพราะฉะนั้น พ่อแม่ควรมีกำลังใจ (อย่างมาก) ในการปลูกฝังพฤติกรรมดี ๆ ของสุภาพชนให้ลูกในยุค 2009 ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: