วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2552
ลูกชิ้นเด็กกุ๊กไก่ "งานวิจัย"วัยเยาว์
ลูกชิ้นเด็กกุ๊กไก่ "งานวิจัย"วัยเยาว์
คอลัมน์ สดจากเยาวชน
ลูกชิ้นของฉัน ลูกชิ้นของฉัน ท่าทางไม่ปลอดภัย...
เอ๊ะ! เสียงเพลงมาจากไหนนะ
เดินตามเสียงใสๆ ไปเรื่อยๆ จนถึงห้องอนุบาล 1/3 โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ ก็พบคำตอบ
เด็กๆ กำลังร้องเพลง "ลูกชิ้นของฉัน" ด้วยท่าทางสนุกสนาน น่ารัก สดใส นับเป็นการเริ่มต้นการเรียนรู้แบบโครงงาน (Project Approach) เรื่อง "ลูกชิ้น"
การเรียนรู้แบบโครงงาน หรือ Project Approach คุณครูจะให้นักเรียนออกมาเสนอหัวข้อที่สนใจหรืออยากเรียนรู้ โดยพูดคุยกันในชั้นเรียน เด็กๆ เสนอมาหลากหลายหัวข้อ เช่น เรื่องดิน ชมพู่ มะละกอ และลูกชิ้น คุณครูจึงทำกราฟแล้วให้เด็กๆ ออกมาติดชื่อตนเองในหัวข้อที่สนใจ
สรุปออกมาได้ว่า ลูกชิ้นเป็นเรื่องที่เด็กๆ สนใจมากที่สุด โดยเริ่มเรียนรู้จากประสบการณ์เดิมที่มีอยู่เรื่องลูกชิ้น ตั้งคำถามว่าสนใจและสงสัยอะไรเกี่ยวกับลูกชิ้น เช่น ลูกชิ้นคืออะไร ลูกชิ้นทำมาจากอะไร ลูกชิ้นมีกี่ชนิด ทำไมลูกชิ้นมีหลายสี ทำไมลูกชิ้นถึงเป็นลูกกลมๆ
จากนั้นให้เด็กๆ สืบค้น หาคำตอบ ทั้งจากอินเตอร์เน็ต พจนานุกรมและนิตยสารต่างๆ โดยหาภาพลูกชิ้น แล้วนำลูกชิ้นของจริงหลายชนิด มาร่วมพูดคุย สำรวจ เปรียบเทียบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในห้องเรียน
น้องสโนว์ ด.ญ.ชัญญา เตชะไกรศรี สาวน้อยเสียงใส ให้คำตอบว่า "ลูกชิ้นทำมาจากเนื้อสัตว์ และเครื่องปรุง มาบดผสมกัน เอามาปั้นแล้วลวกถึงจะรับประทานได้ ลูกชิ้นมีหลายชนิด มีทั้งลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นไก่ ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นปลาแซลมอน ลูกชิ้นปลาหน้าหมีแพนด้า ลูกชิ้นสาหร่าย และลูกชิ้นญี่ปุ่น"
การค้นคว้าในสัปดาห์นี้ เด็กๆ จะได้สำรวจลักษณะ ขนาด เปรียบเทียบความเหมือนความต่าง จากการสังเกตและการสัมผัส รวมทั้งทำศิลปะเกี่ยวกับลูกชิ้น เช่น ลูกชิ้นพิมพ์ภาพ กลิ้งสีด้วยลูกชิ้น ทำลูกชิ้นยักษ์จากกระดาษนิตยสาร และออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับลูกชิ้น
น้องพริมมี่ ด.ญ.พริม วรรณประภา นักออกแบบตัวยง เล่าว่า "ลูกชิ้นที่ซื้อในห้างสรรพสินค้าจะมีแบบห่อโฟมคลุมด้วยพลาสติก กับแบบห่อด้วยสุญญากาศ ซึ่งเก็บได้นานกว่า ที่โรงเรียนหนูได้วาดรูปลงบนถุงพลาสติก เพื่อเอาไว้ใส่ลูกชิ้นที่เราทำเสร็จแล้ว บนถุงต้องมีรูปหมู เพราะเป็นลูกชิ้นหมู ถ้าเป็นลูกชิ้นไก่ต้องวาดรูปไก่ลงไป ทำไว้หลายๆ ใบค่ะ เพื่อนๆ ในห้องก็ช่วยกันทำถุงใส่ลูกชิ้นทุกคนเลย"
หลังได้คำตอบว่าลูกชิ้นคืออะไรแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนลูกชิ้นทำอย่างไร น้องสโนว์เล่าประสบการณ์ที่ได้ลองทำลูกชิ้นปลาในห้องเรียนว่า "ต้องนำเนื้อปลามาบดก่อนแล้วใส่เกลือ บีบใส่หม้อต้ม สโนว์และเพื่อนๆ ปั้นลูกชิ้นใส่ในหม้อ พอสุกแล้วก็ได้ชิมฝีมือของหนูเอง อร่อยมากๆ พอกลับบ้านก็อยากให้คุณแม่ทำให้ทานที่บ้าน จะได้ไม่ต้องไปซื้อ ทำเองทั้งสะอาด ปลอดภัย ประหยัดด้วยค่ะ"
วันต่อมาคุณครูให้เด็กๆ เล่นบทบาทสมมติร้านขายลูกชิ้น เด็กช่วยกันจัดตั้งร้าน จัดวางลูกชิ้น ตกแต่งร้านให้สวยงาม และเรียนรู้เกี่ยวกับลูกชิ้นชนิดต่างๆ กันต่ออีก เด็กๆ และคุณครูร่วมกันหาลูกชิ้นชนิดต่างๆ ที่ยังไม่เคยเห็น นำมาสำรวจดูลักษณะ
น้องพริมมี่อธิบายลักษณะลูกชิ้นว่า "ลูกชิ้นรักบี้เป็นรูปยาว ไม่เป็นวงกลม เหมือนวงรี ลูกชิ้นปูอัดเป็นลูกกลมๆ สีชมพูอ่อน มีกลิ่นเหม็นคาว ลูกชิ้นกุ้งมีสีน้ำตาล แข็งๆ ไม่นิ่ม ลูกชิ้นเห็ดหอม เนื้อนิ่มๆ ลื่นๆ เหมือนลูกบอลลูกเล็ก ลูกชิ้นสาหร่าย รูปทรงกลมๆ ลื่นๆ มีหลายสี"
เมื่อเด็กๆ รู้จักลูกชิ้นทะลุปรุโปร่งแล้ว ก็ถึงเวลาหาความรู้นอกรั้วโรงเรียน คุณครูพาเด็กๆ ไปทัศนศึกษาที่ซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อค้นหาคำตอบว่าลูกชิ้นมีที่ไหนบ้าง
ที่นี่เด็กๆ ต่างตื่นตาตื่นใจที่ได้พบกับดินแดนแห่งลูกชิ้น เด็กๆ พากันเดินสำรวจรอบๆ รีบเดินหาลูกชิ้นเป้าหมายทันที คุณครูไม่รอช้ารีบแจกใบสำรวจลูกชิ้นให้เด็กๆ ทำเครื่องหมายว่าลูกชิ้นที่เห็นเป็นลูกชิ้นอะไร ราคาเท่าไหร่ ก่อนกลับก็ไม่พลาดซื้อลูกชิ้นกลับมาทำสุกี้ โดยคุณครูให้เด็กๆ ช่วยกันล้างทำความสะอาดลูกชิ้นและผัก
ได้ส่วนประกอบครบแล้ว พ่อครัวแม่ครัวตัวน้อยใส่ลูกชิ้นและผักลงหม้อ รอสุก เด็กๆ ร่วมรับประทานกันอย่างเอร็ดอร่อย
จากกิจกรรมต่างๆ ที่คุณครูจัดให้เด็กๆ ลงมือทำด้วยตนเองนั้น ทำให้เด็กๆ สนุกสนานและสนใจมากกว่าการนั่งฟังเฉยๆ ในห้องเรียน เด็กๆ มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างสรรค์จินตนาการในรูปแบบงานศิลปะ ทุกคนช่วยกันวาดรูปและแต่งนิทาน
น้องสโนว์เป็นตัวแทนเล่านิทานเรื่องลูกชิ้นจอมซนว่า "มีลูกชิ้นจอมซน ไม่เชื่อฟัง หนีพ่อแม่มาเดินเล่นในป่าใหญ่โดยลำพัง เกิดหลงทางในป่ากลับบ้านไม่ถูก แต่ว่าโชคดี มีนกตัวใหญ่บินผ่านมา จึงช่วยลูกชิ้นจอมซนไว้ แล้วส่งกลับถึงบ้านในทันใด หลังจากนั้นลูกชิ้นจึงไม่กล้าซุกซนอีก และเชื่อฟังพ่อแม่ ไม่กล้าหนีเที่ยวไปไกลอีกแล้ว"
สัปดาห์สุดท้ายของการเรียนรู้ คุณครูกับลูกศิษย์ตัวน้อยร่วมกันสรุปสิ่งต่างๆ ที่เรียนรู้มา นำมาจัดนิทรรศการให้ชมกัน เด็กๆ ร่วมกันตกแต่งห้องเรียน นำสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างไว้จัดวางตามมุมต่างๆ ในห้อง ช่วยกันปั้นลูกชิ้นด้วยดินน้ำมันสำหรับเป็นของที่ระลึกให้ผู้ปกครองที่มาเยี่ยมชม
เสียงวิทยากรรุ่นเยาว์บอกเล่าเรื่องราวของลูกชิ้นให้ท่านผู้ชมฟังอย่างน่าเอ็นดู
……………
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น