วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2552

เทคนิคดูแลสมองช่วยให้ลูกเรียนดี


เทคนิคดูแลสมองช่วยให้ลูกเรียนดี

เด็กแรกเกิดมีเซลล์สมองอยู่ร้อยล้านล้านเซลล์ แต่เซลล์เหล่านี้ยังพัฒนาไม่เสร็จสมบูรณ์หลังจากที่เด็กคลอดเซลล์สมองจะเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างทางเดินเส้นประสาทและการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์จนกลายเป็นเครือข่ายระบบประสาท





สมองเจริญเติบโตได้เองโดยอัตโนมัติ สมองของเด็กจะตัดสินว่า ต้องการเก็บข้อมูลอะไรและจะมีวิธีการจัดเก็บข้อมูลอย่างไร คุณไม่จำเป็นต้องสอนวิธีเรียกร้องความสนใจให้กับลูก เนื่องจากลูกสามารถเรียนรู้ได้เองอย่างรวดเร็วจากประสบการณ์

การสร้างทางเดินเส้นประสาทและการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ของสมองเด็กจะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่สมองต้องการจัดการข้อมูลที่รวบรวมผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ซึ่งมีผลทำให้ทางเดินเส้นประสาทที่มีอยู่เดิมเปลี่ยนแปลงไปหรือเจริญเติบโตใหม่เพื่อจัดเก็บข้อมูลความจำใหม่ในรูปแบบที่สมองเป็นผู้สั่งการเอง ดังนั้น ลูกจึงมีลักษณะวิธีการเรียนรู้ ความนึกคิด และการแสดงออกแตกต่างไปจากคุณ ญาติพี่น้องและเด็กคนอื่นในโรงเรียน



ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่มีส่วนในการช่วยพัฒนาสมองของลูกด้วยการจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม โดยมีปัจจัยที่ช่วยทำให้สมองเจริญเติบโตและพัฒนา ดังนี้


การฟังเพลง ออกท่าทาง เต้นรำ ร้องเพลง
การพูดและสนทนาโต้ตอบ ชมเชยและให้กำลังใจ หัดถามและตอบ ใช้ภาษาอย่างสร้างสรรค์
การสัมผัสและนวด เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า
จำกัดการดูโทรทัศน์และการเล่นวีดีโอเกม
สนับสนุนเด็ก ๆ ให้ทำงานอดิเรก
เข้านอนเป็นเวลา
กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในงานบ้าน
มีโภชนาการที่ดี และที่สำคัญ ดื่มน้ำเปล่าปริมาณมาก
ได้เล่น ได้หัวเราะ ได้สนุก
อ่านหนังสือหรือเล่านิทาน เพื่อกระตุ้นจินตนาการ
มีทางเลือกที่หลากหลาย
ร่วมกับเด็ก ๆ เล่นบทบาทสมมติ เช่น ให้ลูกเป็นหมอ คุณพ่อคุณแม่เป็นคนไข้ ฯลฯ

เหล่านี้คือเทคนิคง่าย ในการพัฒนาสมอง หากท่านต้องการรายละเอียดพร้อมกลยุทธ์เพื่อความสำเร็จในการเรียน และเทคนิคสร้างความจำเพื่อให้ลูกเรียนดีได้หาอ่านได้ในหนังสือ "มหัศจรรย์สมองของลูกรัก "


ข้อมูลจากหนังสือมหัศจรรย์สมองของลูกรัก
เขียนโดย Christine Ward แปลโดย ปาริฉัตร เศวตเศรณี สำนักพิมพ์แฮปปี้แฟมิลี่

ทำไมต้อง "เล่านิทาน-อ่านหนังสือ" ให้ลูกฟัง?

วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2552 เวลา 15:09:10 น. มติชนออนไลน์

ทำไมต้อง "เล่านิทาน-อ่านหนังสือ" ให้ลูกฟัง?

เป็นเรื่องที่พูดกันมานานโข เกี่ยวกับการเล่านิทาน และอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ส่วนใหญ่ก็พูดกันแต่ว่าจะทำให้เด็กฉลาด เปิดโลกกว้าง และต่างๆ นานา แต่ก็ยังไม่มีใครพูดให้ชัดเจนในเชิงหลักวิชาการว่า ฉไนเลย การเล่านิทาน และอ่านหนังสือให้ลูกฟังนั้น ทำให้เด็กฉลาดได้อย่างไร


นพ.อุดม เพชรสังหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมศักยภาพสมองของเด็กและเยาวชน และรองประธานฝ่ายพัฒนาวิชาการ บริษัท รักลูกกรุ๊ป จำกัด จะมาไขปริศนานี้ให้ฟัง

คุณหมออุดม อ้างผลงานการค้นคว้าของ อีริค อาร์ แคนเดล จิตแพทย์ชาวอเมริกัน เจ้าของโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2543 จากผลงานการค้นคว้าวิจัยเรื่องการเรียนรู้และความจำมนุษย์ ได้สรุปผลงานตัวเองออกมาด้วยข้อความสั้นๆ ว่า "การเรียนรู้คือสิ่งที่ทำให้ ′เรา′ เป็นดังเช่นทุกวันนี้"

ความหมายคือ ความรู้ ความจำ ที่เราได้เรียน ได้รู้ จากสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวนั่นแหละคือสิ่งที่หล่อหลอมให้เราเป็นคนดี เป็นคนเก่ง เป็นคนมีน้ำใจไมตรี หรือแม้แต่เป็นคนขี้โกง

นอกจากนี้ อีริค ได้อธิบายการเรียนรู้ของเราด้วยการทำงานของเซลล์สมอง ว่า ขณะที่คนเราอยู่ในท้องแม่ เซลล์สมองจะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วจนกระทั่งก่อรูปเป็นก้อนสมอง อย่างที่เราเคยเห็นในหนังสือ หรืองานนิทรรศการต่างๆ แต่เซลล์สมองจะยังไม่ทำงานทันที จนกว่ามันจะงอกเส้นใยออกมาต่อเชื่อมกันเป็นเครือข่ายเป็นวงจร เหมือนกับวงจรในเครื่องรับวิทยุ หรือคอมพิวเตอร์ที่เราใช้ตามบ้าน

ในช่วงแรก พันธุกรรมที่เราได้รับจากพ่อแม่จะเป็นตัวควบคุมให้เซลล์สมองเหล่านี้แตกเส้นใยออกมาต่อเชื่อมกันเป็นวงจรเป็นเครือข่าย เพื่อทำหน้าที่บางอย่างในการมีชีวิตอยู่ของเรา เช่น ทำหน้าที่ควบคุมการหายใจ ควบคุมกาเต้นของหัวใจ ควบคุมการนอนหลับและตื่น ควบคุมให้ร้องเมื่อหิว หยุดร้องเมื่อกินอื่ม พันธุกรรมจะทำหน้าที่สั่งให้เซลล์สมองพัฒนาตัวเองให้ทำงานในหน้าที่เบื้องต้นเหล่านี้ ซึ่งถ้าไม่ทำหน้าที่นี้แต่แรกเราก็จะไม่สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้

แต่นอกเหนือไปจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นการพัมนาภษา การสื่อสาร การพัมนานิสัยใจคอ การพัมนาความคิด เหตุผล อารมณ์ ความชอบ ความเกลียด ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในภายหลังโดยผ่านการเรียนรู้ทั้งสิ้น

โดยในการเล่านิทาน พ่อแม่จะต้องใช้น้ำเสียงในการเปล่งคำพูด ต้องมีการแสดงท่าทางประกอบ เพื่อให้เด็กเข้าใจถึงความหมายที่สื่อออกมา เซลล์สมองของเด็กก็จะบันทึกท่าทางที่แสดงออกถึงเจตนานั้น เช่น บ๊ายบาย นอนหลับ กินข้าว เป็นต้น ร่วมกับน้ำเสียงที่เปล่งออกมา เก็บเอาไว้ในส่วนของความจำ

เมื่อท่าทางและคำพูดได้ถูกนำมาแสดงให้เห็นบ่อยๆ เด็กก็จะจดจำท่าทาง เสียงที่พูด รวมถึงความหมายของคำนั้นเป็นอย่างดี คราวต่อไปพ่อแม่เพียงแค่แสดงท่าทาง หรือเปล่งเสียง โดยไม่ต้องทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน สมองส่วนความจำของเด็กก็จะระลึกได้ว่ามันคืออะไร และก็จะเข้าใจความหมายของคำนั้น หรือท่าทางนั้นๆ เอง

ส่วนเรื่องการอ่านหนังสือนั้น มีรายละเอียดไม่ต่างจากการเล่านิทานมากนัก เพียงแต่เรามีหนังสือภาพหรือนิทานมาประกอบด้วย อย่างเมื่อเวลาที่ พ่อแม่ชี้ไปที่ภาพ "ไก่" พร้อมกับพูดคำว่า "ไก่" ไปด้วยนั้น และชี้ไปที่คำว่า "ไก่" โดยอ่านให้เด็กฟังอย่างนี้บ่อยๆ สมองของเด็กก็จะบันทึกทั้งภาพ คำพูด และตัวอักษรไปพร้อมกัน ต่อไปเมื่อเด็กเห็นตัวไก่ ก็จะเรียกชื่อถูก เมื่อเจอตัวหนังสือก็จะอ่านออก

การเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟัง จึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาภาษาที่ดีมากๆ สำหรับเด็ก และภาษานี่แหละคือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนเราเรียนรู้ และถ่ายทอดความรู้ให้แก่กันและกันเรื่อยมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ทำให้เราฉลาดกว่าสัตว์ทั้งปวงในโลกนี้

ไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่า เด็กที่มีความสามารถทางภาษาสูงจะมีความจำดีกว่าเด็กที่มีความสามารถทางภาษาต่ำ เนื่องจากเด็กจะสามารถเรียบเรียงข้อมูลความรู้ให้เป็นภาษาได้ดีกว่า เพราะเก็บเป็นความจำและเป็นระบบมากกว่า

นอกจากนี้ เรื่องราวต่างๆ ที่เราเล่าหรืออ่านให้เด็กฟังนั้น บางเรื่องราวสะท้อนให้เห็นที่มาของเหตุแลผลที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กมองเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ เด็กจะซึมซับและเลียนแบบสิ่งเหล่านี้ไปเป็นแบบอย่างสำหรับชีวิต ของเขาเอง โดยเซลล์กระจกเงาที่อยู่ในมองจะทำหน้าที่อันนี้ ถ้าเราเลือกหนังสือดีๆ มาอ่านให้ลูกฟัง แน่นอนนิสัยดีๆ ย่อมเกิดแก่ลูกของเรา

ข้อสำคัญ การที่เราเล่านิทานอ่านหนังสือให้เด็กฟังมันเป็นการแสดงออกว่าเรารักเขา เด็กที่รู้สึกว่าพ่อแม่รักก็จะเป็นเด็กที่มีความมั่นใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาศักยภาพและตัวตนของเด็กในอนาคต

พอจะเข้าใจถึงความจำเป็น และความสำคัญของการเล่านิทาน และอ่านหนังสือให้ลูกฟังแล้ว หากต้องการอ่านฉบับเต็ม สามารถติดตามได้จาก นิตยสาร "รักลูก" ฉบับเดือนมกราคม ซึ่ง "คุณหมออุดม" จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาสมองลูก ให้ได้ติดตามเป็นประจำในคอลัมน์ "Brain Forum"

KingMath เทคนิคคณิตศาสตร์แนว Why จากแดนโสม

KingMath เทคนิคคณิตศาสตร์แนว Why จากแดนโสม

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 มกราคม 2552 22:21 น.


ในสวนสัตว์มียีราฟและนกยูงรวมกัน 25 ตัว นับขาได้ 68 ขา จงแสดงว่ามียีราฟกี่ตัว?

หากถามโจทย์คณิตศาสตร์นี้กับผู้ใหญ่ หลายคนคงเริ่มหยิบกระดาษดินสอ และแทนค่าสมการด้วยตัวแปร x และ y กันอย่างสนุกมือ แต่หากต้องการนำโจทย์นี้ไปถามกับเด็กประถม ผู้ใหญ่หลายคนอาจส่ายหน้าด้วยความคิดที่ว่า ยังเร็วเกินไปสำหรับการสอนเด็กในช่วงชั้นดังกล่าวให้รู้จักกับสมการ หรือตัวแปร x y z เพื่อไขคำตอบจากโจทย์ดังกล่าว

แต่เชื่อหรือไม่ว่า แม้ไม่รู้จักการแทนค่าตัวแปร x y z เด็กในประเทศที่มีอันดับคะแนนคณิตศาสตร์สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างเกาหลีใต้ก็สามารถแก้โจทย์ดังกล่าวได้ตั้งแต่ชั้นประถม 3 !!!!

ข้อความข้างต้นไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อ หรือเกิดจากการเรียนที่หนักกว่าปกติของเด็กเกาหลี แต่เกิดจากรูปแบบการเรียนการสอนที่ให้เด็กคิดผ่านการตั้งคำถามของคุณครู ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะหาคำตอบของโจทย์ข้อนี้ได้

ผลที่ได้จากการสอนในลักษณะดังกล่าว นอกจากจะทำให้พบวิธีพัฒนาเด็กในด้านคณิตศาสตร์แล้ว ยังเป็นการปลุกศักยภาพในตัวของเด็กที่มีไม่จำกัดออกมาได้เป็นอย่างดี และยังทำให้ค้นพบว่าวิธีในการตอบโจทย์ดังกล่าวยังมีอีกมากมายนับสิบวิธี มีแม้กระทั่งใช้การวาดภาพเพื่อหาคำตอบ ซึ่งเป็นวิธีคิดง่าย ๆ สไตล์เด็ก ป.3 นั่นเอง

เมื่อห้องเรียนเปิดโอกาสให้แสดงความคิดสร้างสรรค์ จึงไม่แปลกที่ความชอบและความถนัดด้านคณิตศาสตร์ของเด็กเกาหลีใต้จะถูกดึงออกมาใช้อย่างต่อเนื่อง และทำให้อันดับในการวัดผลทางด้านคณิตศาสตร์จากโครงการ PISA (Program for International Student Assessment) และโครงการศึกษานานาชาติ Trends in International Mathematics and Science Study หรือ TIMSSของเยาวชนเกาหลีใต้นั้นติดอันดับ 1 ของโลกมายาวนานนับ 10 ปี (สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 33 จากทั้งหมด 40 อันดับ)

MGR Lite และ Life & Family มีโอกาสพบกับ มร.ปาร์ค มยุง จุน (Park Myung Jun) อดีตคุณครูคณิตศาสตร์ผู้คิดค้นและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนคณิตศาสตร์แนวใหม่ โดย มร.ปาร์คเล่าถึงประสบการณ์ในการสอนอันยาวนานซึ่งเป็นที่มาของหลักสูตร KingMath ที่เขาคิดค้นขึ้นว่า

"เทคนิคการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ก็เหมือนกับการจับปลา ปลาแต่ละชนิดมีวิธีจับมากกว่าหนึ่งวิธี โจทย์คณิตศาสตร์เองก็เช่นกัน อาจกล่าวได้ว่าการกระตุ้นให้เด็กคิด และมีส่วนร่วมในชั้นเรียนเป็นสิ่งสำคัญมาก สำหรับการเรียนคณิตศาสตร์ เพราะเรามีโอกาสค้นพบเทคนิคใหม่ ๆ การคิดใหม่ ๆ ได้มากมาย เพียงแค่ครูให้คำชี้แนะกับเด็กว่าโจทย์รูปแบบนี้ควรจะต้องทำอย่างไร แล้วเด็กจะมีความคิดที่หลากหลายพรั่งหรูออกมา ซึ่งโดยปกติแล้ว หากเด็กทำได้ดี คุณครูควรมีรางวัลให้เด็กด้วย เพื่อช่วยจูงใจให้เด็กชอบคณิตศาสตร์มากยิ่งขึ้น"

จากโจทย์ -- ในสวนสัตว์มียีราฟและนกยูงรวมกัน 25 ตัว นับขาได้ 68 ขา จงแสดงว่ามียีราฟกี่ตัว? -- วิธีคิดของเด็กประถม 3 จึงอาจเป็นการวาดภาพนก 25 ตัว ซึ่งเด็กจะพบว่า ขาได้ถูกใช้ไปเพียง 50 ขาเท่านั้น (25 x 2) เหลือขาที่ยังไม่ได้ใช้อีกตั้ง 18 ขา (68 - 50) เด็กก็จะเอาขาที่เหลือนั้นไปใส่ให้กับนกทีละ 2 ขา เพื่อเปลี่ยนให้นกกลายเป็นยีราฟ เมื่อทำไปเรื่อย ๆ เด็กก็พบว่ามีสัตว์อยู่ 9 ตัวที่มีขา 4 ข้าง ส่วนอีก 16 ตัวนั้นมีขา 2 ข้าง นั่นคือที่มาของคำตอบว่า มีนกยูง 16 ตัว และมียีราฟ 9 ตัว ในสวนสัตว์แห่งนี้

After School แปลกที่แตกต่าง

จากคำบอกเล่าของ มร.ปาร์ค ยังทำให้ทราบอีกด้วยว่า ค่านิยมด้านการเรียนวิชาต่าง ๆ ของครอบครัวชาวเกาหลีใต้มีสิ่งที่แตกต่างจากประเทศไทยหลายประการ หนึ่งในนั้นก็คือ การมีโรงเรียนในรูปแบบ After School สำหรับเด็ก ๆ ซึ่งอาจแตกต่างไปจากโรงเรียนกวดวิชาสไตล์ไทย ๆ โดยโรงเรียนแนว After School นั้นเริ่มรับเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาล มีหลายวิชาให้เลือกเรียน ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาเกาหลี ภาษาอังกฤษ ฯลฯ แต่การสอนจะใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย และสอนเพื่อสร้างความเข้าใจในวิชานั้น ๆ แต่จะไม่เน้นเรื่องเทคนิคการทำคะแนนให้ได้มาก ๆ เพื่อการสอบเข้า เช่น การตัดตัวเลือกที่ไม่น่าจะเป็นคำตอบของโจทย์ แบบที่โรงเรียนกวดวิชาบางแห่งนิยมฝึกเด็ก

ทั้งนี้ ต้นกำเนิดของโรงเรียนในรูปแบบ After School มาจากปัญหาในระบบการเรียนการสอน ที่ทุกประเทศต่างพบเจอนั่นก็คือ การที่ให้เด็กเก่งและเด็กไม่เก่งเรียนคละกัน



"เด็กอ่อนต้องเรียนร่วมกับเด็กเก่ง ดังนั้น หากคุณครูสอนไว เด็กที่เข้าใจช้าก็จะตามไม่ทัน แต่ถ้าสอนช้า เด็กที่หัวไวก็จะเบื่อ เพราะเรียนไม่สนุก นอกจากนั้น ในการเรียนคณิตศาสตร์ (รวมถึงการเรียนในทุกวิชา) ยังขาดระบบประเมินผลเด็กว่ามีจุดอ่อนในด้านใด ครูและผู้ปกครองอาจทราบแค่เพียงว่าเด็กคนนี้อ่อนคณิตศาสตร์ แต่อ่อนตรงไหน อย่างไร ไม่มีใครทราบ ดังนั้นจึงไม่สามาถแก้ไขปัญหาให้เด็กได้อย่างถูกจุด"

โรงเรียนแนว After School จึงเข้ามารับปัญหานี้ไปแก้ไข โดยการจัดการสอนสำหรับเด็กตามกลุ่มความสามารถ เด็กเก่งได้เรียนเทคนิคแนวคิดใหม่ ๆ เด็กเรียนช้าได้มีเวลาปูพื้นฐานให้แน่น และมีการจัดทำระบบประเมินผลเด็ก หาจุดอ่อนของเด็กเพื่อทำการแก้ไข

"เพราะเด็ก ๆ มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ที่แตกต่างกัน จึงควรมีการประเมินความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ และจัดบทเรียนให้เหมาะสมกับระดับความรู้ เมื่อเริ่มต้นเรียนคณิตศาสตร์อาจเริ่มต้นจากการเรียนทฤษฎี การแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ฝึกความแม่นยำ และนำมาประเมินความสามารถเพื่อวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของเด็ก" มร.ปาร์คกล่าว

คณิตศาสตร์แนว Why?

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกเกี่ยวกับการเรียนคณิตศาสตร์ในปัจจุบันยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาหลักที่พบยังคงเป็นเรื่องของจำนวนเด็ก ๆ ที่ไม่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์มีเพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาศาสตร์ต่าง ๆ ของโลก โดยเฉพาะศาสตร์บางแขนงที่มีวิชาคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐาน เช่น วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การขาดบุคลากรจึงทำให้การต่อยอดความรู้ในสาขาต่าง ๆ ต้องน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่เมินคณิตศาสตร์นอกจากจะเกิดขึ้นจากการเรียนคละกันตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังเกิดจาก "ความไม่เข้าใจ" ถึงความจำเป็นในการเรียนคณิตศาสตร์ด้วย

"สิ่งที่ผิดพลาดของการเรียนคณิตศาสตร์ในอดีตอาจเป็นเรื่องของการใช้คำถาม What? ไปถามเด็ก ปฏิบัติกับเด็กเป็นเหมือนเครื่องมือหรืออุปกรณ์อย่างหนึ่งในการหาคำตอบออกมา แต่แนวทางในการสอนคณิตศาสตร์ของเราที่คิดค้นขึ้นและใช้สอนกับเด็ก ๆ ในเกาหลีใต้ก็คือ เราจะไม่ถามคำถาม What? กับเด็ก เพราะคำถาม What? เราสามารถหาคำตอบได้จากเครื่องคิดเลข คอมพิวเตอร์ เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้ถูกออกแบบมาให้ตอบคำถาม What?"

"สิ่งที่เราจะถามกับเด็กคือ Why? เห็นได้จากโจทย์คณิตศาสตร์ของเราคือ Why? เด็กมีโอกาสได้คิดถึงกระบวนการในการหาคำตอบ ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ได้คิด วิเคราะห์ หาเหตุผลมาตอบคำถาม ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่เครื่องจักรทำไม่ได้"

ซึ่งก่อนจะจากกัน มร.ปาร์คได้กล่าวถึงความสำเร็จของเกาหลีใต้ในอุตสาหกรรมโลกเอาไว้ประการหนึ่ง มีใจความว่า

"เกาหลีใต้มีบริษัทอย่างแอลจี ซัมซุง เพราะเรามีทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งรากฐานของการก่อตั้งบริษัทที่ผลิตสินค้าเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนแล้วต้องอาศัยความเข้าใจเรื่องคณิตศาสตร์ หากเยาวชนในประเทศมีพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์ดี มีความเข้าใจ ก็จะทำให้เกิดวิศวกรที่ดีตามมา และสามารถพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ได้"

พฤติกรรมเกเร" แท้จริงแล้วคือปัญหา

"พฤติกรรมเกเร" แท้จริงแล้วคือปัญหา

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 มกราคม 2552 14:17 น.



หากเอ่ยชื่อการ์ตูน "โดเรมอน" จากแดนปลาดิบ นอกจากโนบิตะ ชิซูกะ ซูเนโอะแล้ว คงมีหลายคนที่นึกถึงไจแอนท์ เด็กอ้วนจอมเกเรในเรื่องได้ติดตา กับพฤติกรรมขี้โมโห ชอบแกล้งคนอื่น โดยเฉพาะเพื่อนที่อ่อนแออย่างโนบิตะ

ในชีวิตจริง เด็กที่เป็นอย่างไจแอนท์ก็คงมีไม่น้อย ที่ใช้ "การกลั่นแกล้ง" คนอื่นมาเป็นเครื่องสร้างความสบายใจ รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะให้ตัวเอง แต่คงไม่ดีแน่ หากจะปล่อยให้เด็ก ๆ ติดนิสัยเหล่านั้นไปจนโต ซึ่งมีโอกาสมากที่เด็กคนนั้นจะแอบไปเพิ่มขีดความสามารถในการกลั่นแกล้งไปสู่การข่มขู่ ข่มเหงน้ำใจ หรือล่วงละเมิดคนอื่น ๆ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ระบบการทำงาน เพราะนั่นหมายถึงการเติบโตขึ้นในแบบที่เป็นปัญหาต่อสังคมโดยรวม

ปัญหาเด็กเกเรเกิดขึ้นได้ไม่ยาก เด็กบางคนอาจเกเรเพราะอิจฉาเพื่อน ซึ่งแก้ได้ง่าย ๆ ด้วยการให้เด็กหลีกเลี่ยง ไม่เข้าใกล้เพื่อนคนนั้น ในขณะที่เด็กบางคนก็รู้สึกสนุกกับการได้ทำร้ายคนอื่น เพราะทำให้เด็กรู้สึกว่ามีอำนาจมากขึ้น แต่เด็กบางคนก็กลายเป็นเด็กเกเรเพียงเพราะคบกับเพื่อนที่เป็นแก๊งอันธพาล ทำให้ต้องคอยรังแกคนอื่นอยู่ร่ำไป

สำหรับผู้ใหญ่ที่เคยเป็นเด็กเกเรมาก่อน มักลงเอยด้วยการมีปัญหามากมายในชีวิต เช่น มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนอื่น มีเพื่อนน้อย เปลี่ยนงานบ่อย เพราะเขาเคยชินกับการปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความก้าวร้าวและดุร้าย จึงอาจเป็นเรื่องที่ดี หากรีบแก้ปัญหานี้เสียตั้งแต่เด็ก ซึ่งการจะสอนให้เด็กหยุดการรังแกคนอื่นนั้นอาจเริ่มต้นจาก

1. พูดคุยถึงต้นตอของปัญหา สอบถามถึงที่มาของพฤติกรรมเกเรของเขา หรือใช้การสังเกตในสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

- เด็กตั้งใจที่จะทำให้คนอื่น ๆ ไม่สบายใจหรือเสียใจหรือเปล่า
- เด็กรู้ตัวหรือเปล่าในขณะที่กำลังรังแกคนอื่น
- เด็กมีปัญหาที่บ้านหรือโรงเรียนไหม มีใครกำลังรังแกเด็กอยู่หรือเปล่า
- เวลาอยู่ที่โรงเรียน เด็กรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง หรือทำให้เหงาไหม
- เด็กรังแกใครบางคนแบบเฉพาะเจาะจงไหม
- เด็กคบเพื่อนที่เป็นอันธพาล ชอบรังแกคนอื่นหรือเปล่า
- เด็กรู้สึกตื่นเต้นหรือสนุกกับการได้ทำร้ายคนอื่นหรือไม่
- เด็กเคยเป็นคนที่ถูกรังแกมาก่อนหรือเปล่า

เพราะบ่อยครั้งที่กลุ่มเพื่อนที่คบ สิ่งแวดล้อมที่บ้าน ประสบการณ์ที่ได้รับมาในอดีตคือตัวการที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมเกเรติดตัวไปจนโต ดังนั้น อาจเป็นการดีที่ให้เด็กเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง (ซึ่งเด็กจะเล่าปัญหาให้กับคนที่เด็กไว้ใจ และเข้าใจ รวมถึงให้กำลังใจเขานะคะ)

2. เมื่อเด็กเปิดใจ อธิบายถึงปัญหา และรู้สึกผิดกับสิ่งที่ทำลงไป ลองให้เด็กหาโอกาสไป "ขอโทษ" คนที่เคยทำร้าย และเตือนว่าอย่าหงุดหงิด หากเด็กที่เคยถูกทำร้ายมีท่าทีระแวงสงสัย เพราะเขาอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัว

3. สอนให้เด็กทำดีกับเพื่อนเป็นการชดเชย หรืออย่างน้อยก็แสดงความเป็นมิตรกับเพื่อน และให้กำลังใจเด็กในการทำดีอย่างต่อเนื่อง

4. สอนให้เด็กรู้จักควบคุมความโกรธ ไม่ให้ระเบิดออกมา หรือถ้าระเบิดออกมาก็อย่าไปทำร้ายคนอื่น เช่น นับ 1 - 10

5. หากิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมให้เด็กทำ เด็กเกเรส่วนหนึ่งเกเรเพราะความเหงา ขาดความมั่นใจ การที่มีโอกาสทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น จะทำให้เขาได้พบกับเพื่อนใหม่ ๆ มากขึ้น และมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

6. มองหาจุดเด่นในตัวเด็ก และสนับสนุนให้เขาพัฒนาจุดเด่นนั้น ๆ เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ

ที่สำคัญคือ ผู้ใหญ่ต้องพยายามให้กำลังใจเด็กเกเรบ่อย ๆ เพราะเด็กอาจเผลอไปรังแกเพื่อนอีกโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ หรือด้วยความลืมตัว การให้กำลังใจอาจเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ดีค่ะ

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก สสส.ค่ะ

วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2552

8 เทคนิคคิดบวก"ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว

8 เทคนิคคิดบวก"ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว"
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์23 มกราคม 2552 09:41 น.
       คงเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับกันมากขึ้น ว่า ปัญหาหย่าร้างของคู่สามีภรรยากำลังทำให้สถาบันครอบครัวในปัจจุบันกลายเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อย และพึ่งผ่านประสบการณ์การหย่าร้างมาหมาด ๆ ต้องแยกจากครอบครัวที่เคยอยู่ร่วมกันพ่อแม่ลูก มาสร้างอนาคตใหม่บนลำแข้งตัวเองเพียงลำพังอาจสูญเสียทั้งกำลังกาย กำลังใจ รวมถึงอาจมองไม่เห็นหนทางในการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นกับตัวเองและลูก ๆ 
       
       แต่ในความทุกข์ที่เกิดจากความล้มเหลวในชีวิตคู่ หากมองในแง่ดีแล้ว ก็เชื่อว่าคงมีข้อดีอีกหลายข้อซ่อนอยู่ ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น ลองดูกันค่ะ
       
       1. คุณพ่อหรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวมีโอกาสได้สอนลูกด้วยตัวคุณเอง และไม่ต้องมีปัญหาในการอบรมสั่งสอนลูก หรือต้องขัดแย้งกับคนอื่น ๆ (อดีตสามีหรืออดีตภรรยา) ที่มีแนวคิดไม่ตรงกันอีกต่อไป ซึ่งในกรณีนี้ คุณจะกลายเป็นคนที่ใกล้ชิดกับลูกมากที่สุดด้วย และจะได้มีโอกาสเข้าร่วมกับกิจกรรมของลูก - สังคมของลูกมากขึ้น
       
       2. ลูก ๆ ที่เติบโตมากับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมีโอกาสที่จะกลายเป็นคนมีความรับผิดชอบสูงกว่าเด็กคนอื่น ๆ เพราะต้องช่วยคุณแม่หรือคุณพ่อดูแลงานต่าง ๆ ในบ้านมาตั้งแต่เล็ก และเขายังมีความคิดเป็นของตัวเอง รวมถึงสามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้ดีมากขึ้นด้วย
       
       3. ปัจจุบันมีข้อมูล หรือองค์กรต่าง ๆ คอยให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาอยู่มากมาย ดังนั้น การเก็บตัว หรือจมอยู่กับความผิดหวังเพียงลำพังจึงไม่ใช่หนทางสำหรับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวอีกต่อไป เพราะคุณมีเวลาเต็มที่ที่จะออกไปหาสิ่งดี ๆ มาเติมเต็มชีวิตตนเองและลูกให้ดีขึ้นได้มากมาย
       
       4. การเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว คุณจะมีเวลาดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง มีเวลาออกกำลังกาย หาอาหารที่มีประโยชน์รับประทานได้ง่ายมากขึ้น เพราะไม่ต้องคิดถึงคนอื่น มีเพียงตัวคุณและลูกเท่านั้น ซึ่งเรื่องของการดูแลสุขภาพให้ดีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมาก ดังนั้นจึงควรมีการพบแพทย์ - ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีด้วย
       
       5. คุณพ่อหรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวจะสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ภายในบ้านได้ด้วยตนเอง เท่ากับว่าตอนนี้คุณได้ไม้อาญาสิทธิ์มาไว้ในครอบครองแต่เพียงผู้เดียวแล้ว เด็กไม่ต้องสับสนอีกต่อไปว่าเขาควรจะฟังใครดี ระหว่างที่พ่อกับแม่เถียงกันเรื่องวิธีเลี้ยงลูก
       
       6. หากยังรู้สึกผิดที่ทำให้ครอบครัวแตกสลาย คุณพ่อหรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวสามารถหันไปมองรอบ ๆ ตัวได้ง่ายมากขึ้น ว่าไม่ใช่มีเฉพาะครอบครัวของคุณที่แปลกแยก แต่ก็มีอีกหลาย ๆ ครอบครัวที่ตกอยู่ในภาวะเดียวกัน และอาจช่วยให้มีกำลังใจในการฟันฝ่าอุปสรรคได้มากกว่าเดิม
       
       7. การเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ทำให้คุณพ่อหรือคุณแม่สามารถหาเวลาทำกิจกรรมกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นของเล่น อ่านหนังสือ ร้องเพลง หรือพาลูกเข้านอนได้ ไม่มีปัญหาอื่น ๆ มากวนใจ
       
       8. เมื่อเหลืออยู่ตัวคนเดียว การมองโลกในแง่ดีจะช่วยให้คุณพ่อหรือคุณแม่ผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ไปได้อย่างมีความสุขมากกว่าเดิม และควรลดความวิตกกังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง หรือปัญหาที่ผ่านไปแล้ว การคิดเช่นนั้นอาจทำให้คุณเกิดความรู้สึกในแง่ลบมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อครอบครัวใหม่ที่คุณกำลังจะก้าวไปด้วยกันค่ะ
       
       หรือหากท่านผู้อ่านมีคำแนะนำอื่น ๆ เสริมนอกเหนือจากนี้ ทางทีมงานขอน้อมรับด้วยความขอบคุณค่ะ

สอนลูกทำการบ้าน

       "การบ้าน" ของลูกนับเป็นปัญหาใหญ่ของพ่อแม่ เพราะมีพ่อแม่หลายๆ คู่สอนการบ้านลูกไม่เป็นหรือไม่มีเวลาที่จะสอนการบ้านให้ลูก
       
       ไม่ดีแน่...หากจะปล่อยลูกให้ทำการบ้านเองโดยไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครองเอาใจใส่ดูแล ซึ่งจะทำให้เด็กไม่เข้าใจบทเรียน เรียนไม่รู้เรื่อง ทำให้มีผลการเรียนอ่อนสะสมมาเป็นเวลานาน และผลร้ายที่สุดคือ สอบตก ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีกับตนเองและอับอายเพื่อน ทำให้ไม่ชอบเรียน ไม่อยากเรียน และรู้สึกว่าตนไม่มีความสามารถ เรียนไม่ได้ และหันไปใส่ใจเรื่องอื่นที่อาจทำให้มีปัญหาได้
       
       จริงๆ แล้วการสอนหรือการฝึกให้ลูกทำการบ้านไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร สำหรับพ่อแม่ที่ไม่มีเวลา อาจฝากให้ลูกเรียนพิเศษตอนเย็นเพื่อให้คุณครูเป็นผู้สอนลูกทำการบ้านแทนก็ได้ สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีเวลาสอนการบ้านลูก เรามาช่วยกันดูแลให้เด็กทำการบ้านและทบทวนบทเรียนกันตามชั้นตอนดังนี้

ภาพจาก www.studylover.com
       เมื่อกลับมาถึงบ้าน อย่าเพิ่งให้เด็กเล่น ต้องให้ลูกทำการบ้านที่โต๊ะเรียนของลูกและดูแลลูกให้ทำการบ้านให้เสร็จเรียบร้อยทุกวัน ต่อจากนั้นพ่อแม่ก็ตรวจสมุดการบ้านลูกให้เรียบร้อย ขณะที่ลูกทำการบ้าน หากเป็นเด็กเล็ก พ่อแม่ต้องช่วยเหลือ อธิบาย สอน แนะนำและดูแลให้ลูกทำ เมื่อลูกมีปัญหาก็ให้คำแนะนำได้
       
       1.เมื่อลูกทำเสร็จแต่ละวิชา พ่อแม่ก็ต้องตรวจดูความถูกต้องเรียบร้อย ชมเชยและให้กำลังใจ
       
       2.ทบทวนบทเรียนวิชาต่างๆ ที่ลูกเรียนมาทุกวัน ให้แน่ใจว่าลูกเข้าใจ รู้เรื่องสิ่งที่เรียนมาเพราะหากลูกไม่เข้าใจแล้วปล่อยไว้จะเป็นการสะสมความไม่เข้าใจ และจะเป็นปัญหา ให้ลูกเบื่อ ไม่อยากเรียน หรือเรียนอ่อน พ่อแม่ควรแก้ปัญหาความไม่เข้าใจบทเรียนของลูกให้ได้
       
       3.ดูแลให้ลูกจัดกระเป๋านักเรียน ตารางสอน เครื่องเขียนและอุปกรณ์การเรียนให้เรียบร้อยทุกวัน หากคุณแม่ได้ดูแลลูกทุกวันติดต่อกันเป็นปีๆ ลูกก็จะมีนิสัยรับผิดชอบ ดูแลตนเอง ควบคุมตนเองได้
       
       4.พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเชื่อและยอมรับว่า การทำการบ้านด้วยตัวของเด็กเองต้องมีการฝึกด้วยการดูแลช่วยเหลือ ชี้แนะ และควบคุมในระยะแรกๆ ซึ่งหากทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นเวลานาน ในที่สุดลูกก็จะรับผิดชอบทำได้เอง เมื่อถึงเวลาก็จะทำการบ้านเอง
       
       การดูแลลูกอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอนสักระยะหนึ่ง ลูกก็จะเรียนรู้ว่า นี่คือสิ่งที่ลูกต้องทำ ลูกก็จะค่อยๆ ทำ ในที่สุดลูกก็จะทำทุกวัน
       

       ไม่ยากเลยใช่มั้ยสำหรับการสอนและฝึกให้ลูกทำการบ้าน เพราะการฝึกให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตนเองในการทำการบ้านเป็นการสร้างนิสัยที่ดีๆ อย่างหนึ่งให้กับลูก หาก เด็กขาดการฝึกฝน ดูแลอย่างใกล้ชิด จะทำให้เกิดปัญหาและเสียเวลามากในการแก้ไขยิ่งถ้าปล่อยไว้จนเด็กโต ก็จะยิ่งแก้ยากหรืออาจแก้ไม่ได้ เป็นปัญหาใหญ่และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
       
       ฉะนั้น...ฝึกเสียตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ นี่แหละ แล้วลูกจะเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบในเรื่องทีได้รับมอบหมาย จะทำให้ลูกเติบโตอย่างมั่นใจ อบอุ่น ปลอดภัย สร้างนิสัยที่ดีๆ มีระเบียบวินัย ในการทำการบ้าน เป็นการป้องกันปัญหาการเรียน และสร้างนิสัยในการทำงานให้เสร็จ มีความรับผิดชอบ ก็จะนำพาลูกไปสู่ความสุข ความสำเร็จในอนาคต
       
       
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
       สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่
       กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข