วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เลี้ยงลูกอยู่บ้าน vs ทำงานออฟฟิศ" ทางชีวิตที่แม่ต้องเลือก





ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป สำหรับคุณแม่คนใหม่ในการตัดสินใจเลือกเส้นทางการดำเนินชีวิตหลังคลอดบุตร หลายคนตัดสินใจอยู่นาน ระหว่างการลาออกจากงานที่ทำอยู่เพื่อมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว มีเวลาดูแลลูกอย่างเต็มที่ กับการกลับไปเป็นสาวออฟฟิศตามเดิมเมื่อครบกำหนดลาคลอด

ทางเลือกข้างต้นจึงเป็นสถานการณ์ที่คุณแม่มือใหม่แทบทุกคนต้องเผชิญ ซึ่งแต่ละคนก็มีปัจจัยให้พิจารณาแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้ครอบครัว สถานการณ์โดยรวมของครอบครัวในขณะนั้น มีพี่เลี้ยงดี ๆ รอเลี้ยงให้หรือไม่ หรือคุณแม่บางท่านก็อยากลาออกมาเลี้ยงลูกอยู่บ้านเอง แต่ติดปัญหาด้านการเงิน ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น เพื่อไม่ให้การตัดสินใจเลือกทางเดินของคุณแม่ต้องถูกกดดันมากเกินไป เรามีแนวทางในการช่วยให้การตัดสินใจง่ายขึ้นมาฝากกันค่ะ

วางแผนแต่เนิ่น ๆ

สำหรับครอบครัวที่อยากมีบุตร หากมีการวางแผนด้านการเงินเอาไว้ล่วงหน้าจะเป็นการดีมาก หรืออย่างน้อยในระหว่างตั้งครรภ์มีการเก็บเงินร่วมกันระหว่างคุณพ่อคุณแม่ก็ถือว่ายังไม่สายเกินไป เพราะแผนการเก็บเงินเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาเงินตึงมือหลังคลอดของครอบครัวได้มาก และช่วยลดแรงกดดันของคุณแม่ที่จะต้องตัดสินใจว่าจะกลับไปทำงานอีกครั้งหรือไม่ให้น้อยลงด้วย (การเตรียมการในข้อนี้ไว้อย่างดีจะช่วยลดความเครียดของคุณแม่หลังคลอดได้อีกมากนะคะ)

อย่างไรก็ดี หากไม่มีการวางแผนการเงินไว้ล่วงหน้า เมื่อทราบว่ามีการตั้งครรภ์ ก็มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเร่งเก็บเงินเตรียมเอาไว้ และประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด โดยอาจเก็บเงินเดือนของฝ่ายคุณแม่เอาไว้ และใช้แต่เงินเดือนของฝ่ายคุณพ่อ เพื่อที่ว่าหลังคลอด อย่างน้อยก็ยังเหลือเงินเดือนสะสมของคุณแม่เอาไว้ถึง 7 - 8 เดือน นอกจากนั้น การประหยัดในรูปแบบต่าง ๆ ก็ช่วยให้เงินเหลือเก็บได้มากขึ้นด้วย เช่น ซื้อของใช้เฉพาะสิ่งที่จำเป็น ซื้อทีเป็นแพ็กใหญ่ ๆ จะทำให้ราคาต่อหน่วยถูกลง เป็นต้น

เมื่อปัญหาด้านการเงินเป็นปัจจัยที่สำคัญน้อยลง ครอบครัวก็มีโอกาสเลือกทางเดินชีวิตได้ตามใจต้องการมากขึ้นค่ะ

มีแผนที่ยืดหยุ่นได้สูง

แผนที่มีความยืดหยุ่นสูงนั้น จะต้องเกิดจากการเตรียมความพร้อมแต่เนิ่น ๆ เพราะเมื่อคุณมีลูก บางครั้งบทความ Howto ต่าง ๆ ก็อาจไม่ช่วยคุณได้มากนัก เพราะจะมีสิ่งต่าง ๆ เข้ามาท้าทายคุณได้ทุกวันไม่มีหยุด หากคุณไม่มีการเตรียมความพร้อมให้ครอบครัวคุณมีความยืดหยุ่น ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ก็อาจทำให้คุณไม่มีทางเลือกในการตัดสินใจที่ดี และหลากหลายเพียงพอ และสุดท้ายก็อาจทำให้คุณไม่สามารถเลือกในสิ่งที่ใจตัวเองต้องการอย่างแท้จริงได้

วางแผนร่วมกัน

ข้อหนึ่งที่คุณแม่พึงตระหนักก่อนตัดสินใจก็คือ คุณไม่ได้เลี้ยงลูกอยู่คนเดียว คุณยังมีสามีเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญค่ะ ดังนั้น ควรจะให้เขามีส่วนในการวางแผนอนาคตของครอบครัวด้วย เพราะมีตัวอย่างคุณแม่หลายท่านที่ครบกำหนดลาคลอดแล้ว ก็ได้คุณพ่อคนดีรับหน้าที่ดูแลลูกต่อให้ (ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้งานของคุณพ่อบางท่านมีความยืดหยุ่นสูงกว่าเดิม ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน ทำงานจากบ้านผ่านอินเทอร์เน็ตก็ได้) เท่านี้ ครอบครัวก็จะยังคงเป็นครอบครัว และเดินหน้าไปได้อย่างมีความสุข เพราะฉะนั้น อย่าลืมปรึกษาคนข้างกายนะคะ

อย่ารู้สึกผิด

สำหรับคุณแม่ที่รักในงานที่ทำอยู่ และต้องการจะกลับไปเพราะยังสนุกกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อนร่วมงาน หรือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เคยได้รับ สิ่งหนึ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงให้ห่างก็คือ การรู้สึกผิดที่ไม่สามารถดูแลลูกได้ด้วยตนเอง ซึ่งในข้อนี้ การมองหาพี่เลี้ยงดี ๆ หรือเนิร์สเซอรี่ที่มีคุณภาพอาจช่วยทดแทนความรู้สึกนี้ได้ (บางทีการฝากหลานให้คุณย่าคุณยายเลี้ยงก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน เมื่อท่านได้ใกล้ชิดหลาน ๆ ก็อาจช่วยให้หัวใจของผู้สูงอายุสดใสมีความสุขได้ค่ะ แต่ต้องพิจารณาจากสุขภาพของท่านด้วยนะคะ)

คุณแม่ที่ตัดสินใจลาออกจากงานมาดูแลลูกอยู่บ้านก็เช่นกัน บางครั้งอาจเกิดความรู้สึกผิดหากครอบครัวมีปัญหาด้านการเงิน ในส่วนนี้แก้ได้โดย คุณแม่อาจช่วยคุณพ่อประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพราะเมื่อไม่ต้องไปทำงาน ค่าใช้จ่ายในการแต่งเนื้อแต่งตัว ค่าเดินทาง ค่าอาหารกลางวันก็อาจจะลดลงไปตามส่วน นอกจากนี้ ก็อาจมองหางานพาร์ทไทม์เบา ๆ ทำได้ เช่น ทำธุรกิจออนไลน์ หรือเป็นอาสาสมัครช่วยทำกิจกรรมสังคม เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์เช่นนี้ การตัดสินใจเลือกทางที่ต้องการอาจไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด แต่สิ่งที่เราสามารถเตรียมเอาไว้ล่วงหน้าได้ก็คือ การมีทางออกหลาย ๆ ทางไว้ในกรณีที่ต้องตัดสินใจ เพราะในที่สุดแล้ว คนที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจครั้งนี้ก็คือตัวคุณแม่เอง ไม่ใช่เพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่เจ้านาย ดังนั้น ควรเคารพการตัดสินใจของตนเอง เพราะคุณเป็นคนที่เข้าใจทุกอย่างดีที่สุดค่ะ

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก more4kids.info

วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ไอเดียสร้าง "บ้านสองภาษา" บทพิสูจน์ความทุ่มเทพ่อแม่



เป็นความพยายามที่ต้องอาศัยความอดทนอย่างสูงทีเดียว สำหรับครอบครัว ๆ หนึ่งในการสร้างสภาพแวดล้อม "สองภาษา" ให้กับลูกซึ่งถือเป็นแก้วตาดวงใจของครอบครัว ในบ้านหลังนี้ คุณพ่อ "พงษ์ระพี เตชพาหพงษ์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท มายด์ คอนเน็กชันส์ จำกัด ซึ่งเปรียบเหมือนเสาหลักได้อุทิศตนเพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านภาษาอังกฤษให้กับลูกตั้งแต่แรกคลอด โดยการสื่อสารกับลูกสาวด้วยภาษาอังกฤษมาตลอดระยะเวลา 3 ปี ขณะที่คุณแม่ “เยาวลักษณ์ ลาภเลิศสุข” จะเป็นผู้สื่อสารกับลูกด้วยภาษาไทย ถึงวันนี้ น้อง "เพ่ยเพ่ย" – ด.ญ. ปลายฟ้า เตชพาหพงษ์ จึงเป็นเด็กหญิงอีกคนหนึ่งที่สามารถสื่อสารได้มากกว่า 1 ภาษาจากความร่วมแรงร่วมใจกันของคุณพ่อและคุณแม่ มุมมองของครอบครัวนี้ต่อการพัฒนาด้านภาษาอังกฤษจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

คุณพ่อพงษ์ระพีเล่าว่า "ย้อนไปประมาณ 3 ปีที่แล้ว ผมมีน้องเพ่ยเพ่ย ลูกสาวคนแรก สิ่งที่ผมมองต่อไปเพื่ออนาคตของลูกก็คือ โลกในยุคที่ลูกโตขึ้นมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า โลกเราจะเข้าสู่สังคมแบบโกลบอล ในอีก 15 - 20 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจะย้ายมาอยู่เอเชีย คำถามก็คือ ศักยภาพของเด็กไทยจะได้รับการพัฒนาไปถึงจุดนั้นไหม เด็กของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย เขามีความสามารถในการพูดได้มากกว่า 2 ภาษาอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ฮ่องกงก็เช่นกัน ส่วนประเทศเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เขาก็มีแต้มต่อในตัวเอง แม้พูดภาษาที่สองไม่ได้ก็ยังไม่เป็นไร แต่ประเทศไทยจะอยู่ตรงไหน เพราะเราเองยังมีปัญหากับภาษาที่สองอยู่เลย"

"ผมเองก็เป็นผลผลิตของระบบการศึกษาที่ผ่านมา เจอปัญหาด้านภาษาอังกฤษแบบที่คนไทยหลาย ๆ คนเจอ ถามว่าคนไทยโง่หรือเปล่า ไม่ใช่ แต่ผมมองว่าในช่วงจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ เราเรียนรู้ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของภาษา ผมไม่อยากให้ลูกมาเจอสภาพคล้าย ๆ กัน อยากให้ภาษาอังกฤษเป็นความสามารถพื้นฐานของเขา ลูกจะได้มีเวลาไปศึกษาหาความรู้ในเรื่องอื่น ๆ นั่นจึงเป็นที่มาของการปรับบ้านให้เป็นบ้านสองภาษาครับ"

การเริ่มต้น "บ้านสองภาษา" ของคุณพ่อท่านนี้ จึงเริ่มจากการศึกษาหาข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งคุณพงษ์ระพีเล่าว่า ในต่างประเทศมีการทำบ้านสองภาษาเช่นกัน และมีการรวมตัวกันเป็นสมาคมด้วย

"ในต่างประเทศมีคนที่สนใจคล้าย ๆ กันกับเรา ซึ่งพ่อแม่เขาเริ่มจากสิ่งง่าย ๆ ใกล้ตัวก่อน ไม่มีการเขียน ไม่มีการจด ไม่มีไวยากรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นการสอนโดยใช้บริบทของสภาพแวดล้อม สอนเหมือนสอนภาษาแม่ โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวก่อน เช่น หมอน ตะกร้า ของเล่น เราใช้การพูดซ้ำ ๆ นำคำศัพท์มาบวกกับคำกริยา เป็นประโยคคำสั่งง่าย ๆ ให้ลูกฟังซ้ำ ๆ เมื่อลูกมีความเข้าใจมากขึ้นในสิ่งที่เราพูด ก็เริ่มมีประโยคคำถามตามมาให้ลูกตอบ yes no เป็นขั้น ๆ ไปครับ"




จากแนวทางดังกล่าว คุณพงษ์ระพีเลือกที่จะเป็นคนสื่อสารกับลูกเป็นภาษาอังกฤษมาตลอดระยะเวลา 3 ปี และให้ภรรยาเป็นผู้สื่อสารกับลูกด้วยภาษาไทย ซึ่งการใช้ภาษาอังกฤษในปัจจุบันไม่เป็นปัญหา เนื่องจากมีสื่อการสอนต่าง ๆ วางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก พ่อแม่สามารถนั่งฝึกภาษากับลูกไปด้วยกันได้ แต่สิ่งที่ผู้ปกครองพึงระวังก็คือ การตรวจสอบสิ่งที่ต้องการสอนก่อนจะพูดออกไป เพราะเด็กจะจดจำได้อย่างแม่นยำ

“ภาษาที่ให้ลูกเรียนคือภาษาพูด ไม่ใช่ภาษาเขียน ดังนั้นการเรียนรู้จึงเริ่มจากการพูดและฟังก่อน พูดในสิ่งที่เขาพูด ไม่ใช่สิ่งที่ควรพูด พ่อแม่ที่จะพูดต้องทราบว่าพูดอย่างไรให้ถูกต้องตามหลัก ซึ่งอาจจะไปศึกษาไวยากรณ์มาก่อนให้เป็นประโยคที่ถูกต้อง เวลาสอนลูกไม่ต้องอธิบาย พูดอย่างเดียว เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง เด็กจะสามารถนำออกมาใช้ได้เองโดยอัตโนมัติ เช่น ประโยคคำถามว่า คุณไปไหนมา เด็กจะทราบว่าต้องใช้ where have you been? ไม่ใช่ where do you go? เพราะความรู้สึกของเขาจะบอกทันทีว่าไม่ใช่ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เด็กเข้าใจได้โดยที่ไม่ต้องเรียนรู้เรื่อง Tense มาก่อน เป็นสิ่งที่เรียกว่าประสบการณ์ร่วม"

นอกจากนี้ คุณพงษ์ระพียังเพิ่มการสอนภาษาจีนให้กับลูกด้วย โดยเริ่มสอนเมื่อเขาโตขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ซึ่งในเด็กโต และภาษาแม่แข็งแรงแล้ว อาจเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องสร้างเงื่อนไข หรือแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ เพิ่มเติม

“ผมไปเมืองจีนแล้วโทรศัพท์คุยกับลูก ก็ถามลูกว่า อยากมาประเทศจีนบ้างไหม ถ้าอยากมา ก็ต้องพูดจีนให้ได้ เพราะคนที่นี่เขาพูดกันแต่ภาษาจีน หลังจากนั้น 4 เดือน ก็พบว่า ลูกเริ่มสนใจพูดภาษาจีนมากขึ้น บางครั้งเขาพูดกับผมก็อาจจะพูดอังกฤษกับจีนปนกัน แต่ผมคิดว่าไม่เป็นปัญหา เพราะวันหนึ่งถ้าเขามีคลังศัพท์มากพอ เขาจะแยกสองภาษานี้ออกจากกันได้เองครับ"

"ในส่วนนี้ ผู้ใหญ่จะผ่านการลองผิดลองถูกมาเยอะ ดังนั้น เราจะทราบว่าสิ่งไหนไม่ควรไปเสียเวลากับมัน หรือบางเรื่องที่เราทราบว่ามันดีกับเด็ก เราก็ควรแนะนำ และส่งเสริมเขา พ่อแม่ควรเปิดทางเลือกต่าง ๆ ให้กับลูกให้มากที่สุดดีกว่าปล่อยลูกไปตามยถากรรม เพราะเด็กเองก็ยังไม่ทราบว่าเขาอยากเป็นอะไร ดังนั้น หากเปิดโอกาสให้เขาได้สัมผัสประสบการณ์หลาย ๆ ด้านจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการของเขาเมื่อเขาเติบโตขึ้น"

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการฝึกภาษาที่สองให้ลูก ๆ เพิ่มเติม คุณพงษ์ระพียังได้เปิดเว็บไซต์เพื่อสร้างเป็นชุมชนและแหล่งความรู้ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากให้บุตรหลานมีความสามารถในการพูดภาษาที่สองได้ด้วยที่ www.2pasa.com
...

วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552



ไอเดียตุนเสบียง "ขนม-ของว่าง" หลังเลิกเรียน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 5 กุมภาพันธ์ 2552 13:23 น.



ขึ้นชื่อว่า "ของว่าง - ขนม" คงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่วัยเด็กต้องการ นอกจากจะช่วยเสริมความสุขในชีวิตประจำวันแล้ว ขนม หรือของว่างบางชนิดยังมีคุณค่าทางอาหาร และจำเป็นต่อร่างกายด้วย โดยสัดส่วนที่พอเหมาะสำหรับพลังงานที่เด็กควรได้รับจากการรับประทานอาหารว่างควรอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณอาหารทั้งหมดที่รับประทานในแต่ละวัน (อ้างอิงจากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล)

ทั้งนี้ อาหารว่างสำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 2 - 15 ปีควรเป็นอาหารที่บริโภคระหว่างอาหารมื้อหลัก และไม่ควรเกินวันละ 2 มื้อ แต่ละมื้อควรมีพลังงานเฉลี่ย 100 - 150 กิโลแคลอรี่ ก็เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว ซึ่งอาหารว่างที่ดีไม่ควรจะมีรสหวาน มัน หรือเค็มจัดจนเกินไป และควรมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย เช่น โปรตีน เหล็ก แคลเซียม วิตามิน หรือใยอาหาร

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจการรับประทานอาหารว่างของเด็กในปัจจุบันพบว่า เด็กเล็กอายุระหว่าง 3 - 5 ปี ได้รับพลังงานจากอาหารว่างมากเกินไป โดยมาจากการชื่นชอบรับประทานขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม ซึ่งมีส่วนผสมของแป้ง ไขมัน และน้ำตาลในปริมาณสูง เดี๋ยวนี้มองไปทางไหนจึงมักพบแต่เด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพ มีโรคอ้วนถามหากันมากขึ้น

การตุนเสบียง "ของว่าง" ในตู้เย็นไว้รอท่าเด็ก ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลย โดยมีคำแนะนำในการเลือกซื้อดังนี้

1. อาหารว่างที่มีประโยชน์และควรมีติดไว้ประจำบ้านอาจเป็น นมจืด ผลไม้อบแห้ง (ชนิดไม่หวาน) ขนมปังกรอบชนิดโฮลวีท หรือ ผลไม้สด (กล้วย ส้ม มะละกอ ฝรั่ง ชมพู่) ซึ่งการจัดเตรียมอาหารว่างสำหรับเด็กอาจตัดผลไม้เป็นชิ้นเล็ก ๆ พอคำ และควรหลีกเลี่ยงผลไม้สดที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน ลำใย ขนุน

2. เครื่องดื่ม อาจเป็นนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม หรือน้ำผลไม้ ซึ่งควรพิจารณาเรื่องของน้ำตาล หากมีน้ำตาลสูงจนเกินไปก็ไม่ควรให้เด็กบริโภค หรือถ้าเป็นไปได้ คุณพ่อคุณแม่มีเวลาคั้นน้ำผลไม้ให้ลูกรับประทานเองได้ก็จะดี และมีประโยชน์มากกว่า



3. พืชหัว และธัญพืช เช่น เมล็ดทานตะวันอบ เม็ดฟักทองอบ เม็ดแตงโตอบ ถั่วต้ม ข้าวโพดต้ม มันต้ม เหล่านี้ก็เป็นอาหารที่มีประโยชน์สำหรับเด็กเช่นกัน แต่ไม่ควรเลือกธัญพืช ฯลฯ ที่ผ่านการทอด การอบเนย เพราะมีแคลอรี่สูงเกินความจำเป็น เช่น ข้าวโพดอบเนย ถั่วทอด

4. ขนมไทย ๆ เช่น ถั่วแปบ ขนมตาล ขนมกล้วย ถั่วเขียวต้ม ฯลฯ ขนมเหล่านี้หลายชนิดมีประโยชน์เพราะมีการนำธัญพืชมาเป็นส่วนประกอบ แต่ไม่ควรเลือกบริโภคขนมไทยประเภทที่มีกะทิ มะพร้าว หรือน้ำตาลเยอะ เพราะอาจทำให้เด็กอ้วนได้

ของว่างที่ไม่แนะนำสำหรับเด็กโดยเด็ดขาด

1. น้ำอัดลม
2. เบเกอรี่ที่มีไขมันสูง และรสหวานจัด เช่น คุกกี้ เค้ก
3. ขนมกรุบกรอบ ประเภท มันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบ
4. ลูกกวาด ลูกอม ช็อคโกแลต
5. ไอศกรีม
6. ของว่างประเภททอด หรือปิ้งย่างจนไหม้

การรับประทานขนม - ของว่าง ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาดี ๆ ที่เด็กจะได้มีความสุข เพลิดเพลิน ในขณะเดียวกัน หากผู้ปกครองมีความใส่ใจกับขนมของลูก ๆ คัดสรรแต่ของที่มีคุณค่า มีสารอาหารที่จำเป็น ในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะทำให้เด็กไทยไม่ต้องเผชิญกับปัญหาด้านโภชนาการและโรคอ้วนได้ในอนาคตค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติค่ะ ^^

วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ลูก“เถียง”พ่อแม่...แก้อย่างไร


พ่อแม่จะรู้สึกอย่างไรหากวันหนึ่งลูกที่เราคอยเลี้ยงดูมาขึ้นเสียงเถียงเราโดยที่ไม่ฟังเสียงใคร?!!

ปัญหาหนึ่งเมื่อลูกเริ่มที่จะมีความคิดเป็นของตัวเอง เริ่มโตพอที่จะรู้จักตัดสินใจในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พ่อแม่หลายคนจึงอาจเจอปัญหาที่คล้ายๆกันในเรื่องของพฤติกรรมของลูก โดยเฉพาะคำพูดของลูกที่อาจดูก้าวร้าว และดูเหมือนว่า ความเข้าใจระหว่างพ่อแม่และลูกจะหายากกว่าที่ผ่านมา แต่ทว่าคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ถ้าในขณะที่ลูกกำลังเสียงดังใส่พ่อแม่นั้น พ่อแม่ได้โต้ตอบกลับมาในน้ำเสียงที่ดังไม่แพ้กัน

ในเรื่องนี้ พญ.สุธิรา ริ้วเหลือง จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์กล่าวว่า "เมื่อลูกเริ่มโตพอที่จะมีความคิดเป็นของตัวเอง อาจมีบางครั้งที่เขาเริ่มไม่ยอมทำตามที่พ่อแม่บอก และมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้องเสมอไป ดังนั้นความเข้าใจระหว่างพ่อแม่และลูกอาจถูกบั่นทอนลงไปได้ ซึ่งไม่มีครอบครัวไหนอยากให้ลูกโตมาเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง ยึดตัวเองเป็นหลักโดยที่ไม่ฟังเสียงใคร แต่การที่ลูกเริ่มที่จะเถียงพ่อแม่นั้นได้เป็นสัญญาณที่บอกว่าเขามีความคิด มีเหตุผล ดังนั้นพ่อแม่ควรจะคำนึงไว้ว่า ลูกเริ่มมีความคิดที่เป็นของตัวเองแล้ว ลูกไม่ใช่เด็กๆที่เราจะบอกอะไรแล้วเขาจะทำตามทุกอย่างเหมือนเมื่อก่อน เมื่อเด็กมีเหตุผลร่วมกับอารมณ์”



“สิ่งที่พ่อแม่ควรทำอย่างแรกคือต้องเข้าใจเขาก่อนว่า สิ่งที่ลูกเป็นนั้นคือพัฒนาการของเขาที่เริ่มมองตัวเองเป็นหลัก เด็กวัยนี้จะคิดว่าเขาถูกต้องเสมอ เราต้องรับฟังเขาก่อน โดยที่ให้เขาชี้แจงว่าทำไมถึงคิดอย่างนั้น พ่อแม่และลูกต้องแชร์กันเช่น หากลูกเถียงว่า ของเล่นชิ้นนี้เป็นของเขา เขาซื้อมาเอง เราต้องถามว่า เอาเงินทีไหนไปซื้อ เราต้องถามถึงสาเหตุและให้เขาพูดอย่างมีเหตุผล หรือถ้าหากเขาไม่ทำการบ้าน แต่บอกว่าทำแล้ว เราต้องบอกลูกว่าอย่าเถียงพ่อแม่ เพราะมันไม่ดี ถ้าทำการบ้านแล้วให้เอามาให้พ่อแม่ดูด้วย เราต้องเชื่อก่อนแล้วหลักฐานค่อยตามมา เราไม่ต้องต่อว่า ถ้าทำการบ้านไม่เสร็จ ก็บอกว่าไม่เสร็จ หาทางออกให้เขาใจเย็น ในขณะที่พ่อแม่ก็ต้องอดทนและเข้าใจพฤติกรรมของลูกด้วย ซึ่งหากผู้ใหญ่เริ่มต้นด้วยความเข้าใจ รับฟัง มีเหตุผล เด็กก็จะเถียงน้อยลง แต่ถ้าเราบังคับ ใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกไม่ควร เด็กก็จะไม่ยอม ถ้าพ่อแม่เสียงดัง เมื่อลูกโตขึ้น มีอิสระ เขาก็จะทำกับพ่อแม่เช่นนั้นเหมือนกัน” พญ.สุธิราแนะ

อย่างไรก็ดี เมื่อการถกเถียงมักมีอารมณ์เข้ามาด้วยเสมอ ถ้าลูกเสียงดังพ่อแม่ต้องมีสัญญาณเตือน ไม่ว่าจะเป็นคำพูด น้ำเสียง เพราะพ่อแม่ต้องจัดการอารมณ์ของลูกให้ได้ก่อน มิเช่นนั้นเขาก็จะไม่รับฟังอะไรทั้งสิ้น แต่หากในทางธรรมแล้ว ปัญหาการถกเถียงของลูกนั้นแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุตได้ให้คำแนะนำว่า

“เวลาที่เราถกเถียงกันคุณแม่ขุ่นมัวหรือเปล่าคะ ถ้าคุณแม่ไม่ขุ่นมัวการถกเถียงนั้นก็เป็นโอกาสให้เด็ก ๆ กับเราได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน แต่ถ้าเผื่อว่าคุณแม่ขุ่นมัวคราวนี้มันเป็นการขัดแย้งแล้ว ลูกจะเอาอย่าง แม่จะเอาอย่าง เวลาที่เราขุ่นมัวเพราะกิเลสเข้าครอบงำ การขัดแย้งจะไม่มีใครได้เรียนรู้เลย ขอให้เรารักษาใจในฐานะที่เป็นแม่ ที่จะสอนให้ลูกรู้โดยการปฏิบัติของเราว่าการแสดงความคิดเห็นด้วยการพูดนั้นทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำได้ แต่ขอให้เคารพกันด้วยการทำหน้าที่ที่จะรักษาใจของเราในขณะแสดงความคิดเห็นนั้นอย่าให้มีกิเลสเข้าครอบงำ การฝึกให้มีโอกาสพูดคุยกันนั้นเด็ก ๆ จะกล้าหาญมากขึ้นและถ้าเผื่อจะให้จิตสำนึกที่เขาจะรู้ว่าเขาควรจะพูดอะไรในเวลาไหนและการใช้โอกาสแห่งการพูดนั้นจะทำให้คนไม่ทุกข์ยากได้อย่างไร คราวนี้ลูกของเราจะเก่งขึ้นจากโอกาสที่คุณแม่ให้ ขอให้คุณแม่รักษาใจของคุณแม่อย่าให้มีกิเลสเข้าครอบงำในขณะที่เรากำลังแสดงความคิดเห็นกับลูกเอาไว้ นั่นเป็นโอกาสที่ดีที่ลูกจะได้เรียนรู้ว่าความสงบเย็นของจิตนั้นการถกเถียงจะเป็นประโยชน์ไม่ใช่การขัดแย้งเพราะมีกิเลสเข้าครอบงำ ขอให้มีความสุขกับการที่ได้แสดงความคิดเห็น”

สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนแนวทางปฏิบัติที่พ่อแม่ควรตระหนักก่อนที่ความสัมพันธ์และความเข้าใจระหว่างพ่อแม่และลูกจะถูกบั่นทอนทุกวันๆเพียงเพราะคำพูดที่ไม่เข้าใจกัน ดังนั้นหากเราหันหน้ามาคุยกันอยู่บนเหตุผลก็คงเป็นเรื่องที่ดีสำหรับทุกคน ในขณะที่ลูกๆเองก็ไม่ควรลืมว่า การที่ลูกขึ้นเสียงกับพ่อแม่ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องอะไรนั้น หากเป็นการขึ้นเสียงอย่างไร้เหตุผล โดยที่ไม่สนว่าคนตรงหน้าคือ พระในบ้านนั้น นับเป็นการสร้างบาปไปโดยไม่รู้ตัว