วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ไอเดียสร้าง "บ้านสองภาษา" บทพิสูจน์ความทุ่มเทพ่อแม่



เป็นความพยายามที่ต้องอาศัยความอดทนอย่างสูงทีเดียว สำหรับครอบครัว ๆ หนึ่งในการสร้างสภาพแวดล้อม "สองภาษา" ให้กับลูกซึ่งถือเป็นแก้วตาดวงใจของครอบครัว ในบ้านหลังนี้ คุณพ่อ "พงษ์ระพี เตชพาหพงษ์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท มายด์ คอนเน็กชันส์ จำกัด ซึ่งเปรียบเหมือนเสาหลักได้อุทิศตนเพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านภาษาอังกฤษให้กับลูกตั้งแต่แรกคลอด โดยการสื่อสารกับลูกสาวด้วยภาษาอังกฤษมาตลอดระยะเวลา 3 ปี ขณะที่คุณแม่ “เยาวลักษณ์ ลาภเลิศสุข” จะเป็นผู้สื่อสารกับลูกด้วยภาษาไทย ถึงวันนี้ น้อง "เพ่ยเพ่ย" – ด.ญ. ปลายฟ้า เตชพาหพงษ์ จึงเป็นเด็กหญิงอีกคนหนึ่งที่สามารถสื่อสารได้มากกว่า 1 ภาษาจากความร่วมแรงร่วมใจกันของคุณพ่อและคุณแม่ มุมมองของครอบครัวนี้ต่อการพัฒนาด้านภาษาอังกฤษจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

คุณพ่อพงษ์ระพีเล่าว่า "ย้อนไปประมาณ 3 ปีที่แล้ว ผมมีน้องเพ่ยเพ่ย ลูกสาวคนแรก สิ่งที่ผมมองต่อไปเพื่ออนาคตของลูกก็คือ โลกในยุคที่ลูกโตขึ้นมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า โลกเราจะเข้าสู่สังคมแบบโกลบอล ในอีก 15 - 20 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจะย้ายมาอยู่เอเชีย คำถามก็คือ ศักยภาพของเด็กไทยจะได้รับการพัฒนาไปถึงจุดนั้นไหม เด็กของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย เขามีความสามารถในการพูดได้มากกว่า 2 ภาษาอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ฮ่องกงก็เช่นกัน ส่วนประเทศเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เขาก็มีแต้มต่อในตัวเอง แม้พูดภาษาที่สองไม่ได้ก็ยังไม่เป็นไร แต่ประเทศไทยจะอยู่ตรงไหน เพราะเราเองยังมีปัญหากับภาษาที่สองอยู่เลย"

"ผมเองก็เป็นผลผลิตของระบบการศึกษาที่ผ่านมา เจอปัญหาด้านภาษาอังกฤษแบบที่คนไทยหลาย ๆ คนเจอ ถามว่าคนไทยโง่หรือเปล่า ไม่ใช่ แต่ผมมองว่าในช่วงจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ เราเรียนรู้ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของภาษา ผมไม่อยากให้ลูกมาเจอสภาพคล้าย ๆ กัน อยากให้ภาษาอังกฤษเป็นความสามารถพื้นฐานของเขา ลูกจะได้มีเวลาไปศึกษาหาความรู้ในเรื่องอื่น ๆ นั่นจึงเป็นที่มาของการปรับบ้านให้เป็นบ้านสองภาษาครับ"

การเริ่มต้น "บ้านสองภาษา" ของคุณพ่อท่านนี้ จึงเริ่มจากการศึกษาหาข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งคุณพงษ์ระพีเล่าว่า ในต่างประเทศมีการทำบ้านสองภาษาเช่นกัน และมีการรวมตัวกันเป็นสมาคมด้วย

"ในต่างประเทศมีคนที่สนใจคล้าย ๆ กันกับเรา ซึ่งพ่อแม่เขาเริ่มจากสิ่งง่าย ๆ ใกล้ตัวก่อน ไม่มีการเขียน ไม่มีการจด ไม่มีไวยากรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นการสอนโดยใช้บริบทของสภาพแวดล้อม สอนเหมือนสอนภาษาแม่ โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวก่อน เช่น หมอน ตะกร้า ของเล่น เราใช้การพูดซ้ำ ๆ นำคำศัพท์มาบวกกับคำกริยา เป็นประโยคคำสั่งง่าย ๆ ให้ลูกฟังซ้ำ ๆ เมื่อลูกมีความเข้าใจมากขึ้นในสิ่งที่เราพูด ก็เริ่มมีประโยคคำถามตามมาให้ลูกตอบ yes no เป็นขั้น ๆ ไปครับ"




จากแนวทางดังกล่าว คุณพงษ์ระพีเลือกที่จะเป็นคนสื่อสารกับลูกเป็นภาษาอังกฤษมาตลอดระยะเวลา 3 ปี และให้ภรรยาเป็นผู้สื่อสารกับลูกด้วยภาษาไทย ซึ่งการใช้ภาษาอังกฤษในปัจจุบันไม่เป็นปัญหา เนื่องจากมีสื่อการสอนต่าง ๆ วางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก พ่อแม่สามารถนั่งฝึกภาษากับลูกไปด้วยกันได้ แต่สิ่งที่ผู้ปกครองพึงระวังก็คือ การตรวจสอบสิ่งที่ต้องการสอนก่อนจะพูดออกไป เพราะเด็กจะจดจำได้อย่างแม่นยำ

“ภาษาที่ให้ลูกเรียนคือภาษาพูด ไม่ใช่ภาษาเขียน ดังนั้นการเรียนรู้จึงเริ่มจากการพูดและฟังก่อน พูดในสิ่งที่เขาพูด ไม่ใช่สิ่งที่ควรพูด พ่อแม่ที่จะพูดต้องทราบว่าพูดอย่างไรให้ถูกต้องตามหลัก ซึ่งอาจจะไปศึกษาไวยากรณ์มาก่อนให้เป็นประโยคที่ถูกต้อง เวลาสอนลูกไม่ต้องอธิบาย พูดอย่างเดียว เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง เด็กจะสามารถนำออกมาใช้ได้เองโดยอัตโนมัติ เช่น ประโยคคำถามว่า คุณไปไหนมา เด็กจะทราบว่าต้องใช้ where have you been? ไม่ใช่ where do you go? เพราะความรู้สึกของเขาจะบอกทันทีว่าไม่ใช่ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เด็กเข้าใจได้โดยที่ไม่ต้องเรียนรู้เรื่อง Tense มาก่อน เป็นสิ่งที่เรียกว่าประสบการณ์ร่วม"

นอกจากนี้ คุณพงษ์ระพียังเพิ่มการสอนภาษาจีนให้กับลูกด้วย โดยเริ่มสอนเมื่อเขาโตขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ซึ่งในเด็กโต และภาษาแม่แข็งแรงแล้ว อาจเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องสร้างเงื่อนไข หรือแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ เพิ่มเติม

“ผมไปเมืองจีนแล้วโทรศัพท์คุยกับลูก ก็ถามลูกว่า อยากมาประเทศจีนบ้างไหม ถ้าอยากมา ก็ต้องพูดจีนให้ได้ เพราะคนที่นี่เขาพูดกันแต่ภาษาจีน หลังจากนั้น 4 เดือน ก็พบว่า ลูกเริ่มสนใจพูดภาษาจีนมากขึ้น บางครั้งเขาพูดกับผมก็อาจจะพูดอังกฤษกับจีนปนกัน แต่ผมคิดว่าไม่เป็นปัญหา เพราะวันหนึ่งถ้าเขามีคลังศัพท์มากพอ เขาจะแยกสองภาษานี้ออกจากกันได้เองครับ"

"ในส่วนนี้ ผู้ใหญ่จะผ่านการลองผิดลองถูกมาเยอะ ดังนั้น เราจะทราบว่าสิ่งไหนไม่ควรไปเสียเวลากับมัน หรือบางเรื่องที่เราทราบว่ามันดีกับเด็ก เราก็ควรแนะนำ และส่งเสริมเขา พ่อแม่ควรเปิดทางเลือกต่าง ๆ ให้กับลูกให้มากที่สุดดีกว่าปล่อยลูกไปตามยถากรรม เพราะเด็กเองก็ยังไม่ทราบว่าเขาอยากเป็นอะไร ดังนั้น หากเปิดโอกาสให้เขาได้สัมผัสประสบการณ์หลาย ๆ ด้านจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการของเขาเมื่อเขาเติบโตขึ้น"

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการฝึกภาษาที่สองให้ลูก ๆ เพิ่มเติม คุณพงษ์ระพียังได้เปิดเว็บไซต์เพื่อสร้างเป็นชุมชนและแหล่งความรู้ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากให้บุตรหลานมีความสามารถในการพูดภาษาที่สองได้ด้วยที่ www.2pasa.com
...

ไม่มีความคิดเห็น: