วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
เลี้ยงลูกอยู่บ้าน vs ทำงานออฟฟิศ" ทางชีวิตที่แม่ต้องเลือก
ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป สำหรับคุณแม่คนใหม่ในการตัดสินใจเลือกเส้นทางการดำเนินชีวิตหลังคลอดบุตร หลายคนตัดสินใจอยู่นาน ระหว่างการลาออกจากงานที่ทำอยู่เพื่อมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว มีเวลาดูแลลูกอย่างเต็มที่ กับการกลับไปเป็นสาวออฟฟิศตามเดิมเมื่อครบกำหนดลาคลอด
ทางเลือกข้างต้นจึงเป็นสถานการณ์ที่คุณแม่มือใหม่แทบทุกคนต้องเผชิญ ซึ่งแต่ละคนก็มีปัจจัยให้พิจารณาแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้ครอบครัว สถานการณ์โดยรวมของครอบครัวในขณะนั้น มีพี่เลี้ยงดี ๆ รอเลี้ยงให้หรือไม่ หรือคุณแม่บางท่านก็อยากลาออกมาเลี้ยงลูกอยู่บ้านเอง แต่ติดปัญหาด้านการเงิน ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น เพื่อไม่ให้การตัดสินใจเลือกทางเดินของคุณแม่ต้องถูกกดดันมากเกินไป เรามีแนวทางในการช่วยให้การตัดสินใจง่ายขึ้นมาฝากกันค่ะ
วางแผนแต่เนิ่น ๆ
สำหรับครอบครัวที่อยากมีบุตร หากมีการวางแผนด้านการเงินเอาไว้ล่วงหน้าจะเป็นการดีมาก หรืออย่างน้อยในระหว่างตั้งครรภ์มีการเก็บเงินร่วมกันระหว่างคุณพ่อคุณแม่ก็ถือว่ายังไม่สายเกินไป เพราะแผนการเก็บเงินเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาเงินตึงมือหลังคลอดของครอบครัวได้มาก และช่วยลดแรงกดดันของคุณแม่ที่จะต้องตัดสินใจว่าจะกลับไปทำงานอีกครั้งหรือไม่ให้น้อยลงด้วย (การเตรียมการในข้อนี้ไว้อย่างดีจะช่วยลดความเครียดของคุณแม่หลังคลอดได้อีกมากนะคะ)
อย่างไรก็ดี หากไม่มีการวางแผนการเงินไว้ล่วงหน้า เมื่อทราบว่ามีการตั้งครรภ์ ก็มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเร่งเก็บเงินเตรียมเอาไว้ และประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด โดยอาจเก็บเงินเดือนของฝ่ายคุณแม่เอาไว้ และใช้แต่เงินเดือนของฝ่ายคุณพ่อ เพื่อที่ว่าหลังคลอด อย่างน้อยก็ยังเหลือเงินเดือนสะสมของคุณแม่เอาไว้ถึง 7 - 8 เดือน นอกจากนั้น การประหยัดในรูปแบบต่าง ๆ ก็ช่วยให้เงินเหลือเก็บได้มากขึ้นด้วย เช่น ซื้อของใช้เฉพาะสิ่งที่จำเป็น ซื้อทีเป็นแพ็กใหญ่ ๆ จะทำให้ราคาต่อหน่วยถูกลง เป็นต้น
เมื่อปัญหาด้านการเงินเป็นปัจจัยที่สำคัญน้อยลง ครอบครัวก็มีโอกาสเลือกทางเดินชีวิตได้ตามใจต้องการมากขึ้นค่ะ
มีแผนที่ยืดหยุ่นได้สูง
แผนที่มีความยืดหยุ่นสูงนั้น จะต้องเกิดจากการเตรียมความพร้อมแต่เนิ่น ๆ เพราะเมื่อคุณมีลูก บางครั้งบทความ Howto ต่าง ๆ ก็อาจไม่ช่วยคุณได้มากนัก เพราะจะมีสิ่งต่าง ๆ เข้ามาท้าทายคุณได้ทุกวันไม่มีหยุด หากคุณไม่มีการเตรียมความพร้อมให้ครอบครัวคุณมีความยืดหยุ่น ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ก็อาจทำให้คุณไม่มีทางเลือกในการตัดสินใจที่ดี และหลากหลายเพียงพอ และสุดท้ายก็อาจทำให้คุณไม่สามารถเลือกในสิ่งที่ใจตัวเองต้องการอย่างแท้จริงได้
วางแผนร่วมกัน
ข้อหนึ่งที่คุณแม่พึงตระหนักก่อนตัดสินใจก็คือ คุณไม่ได้เลี้ยงลูกอยู่คนเดียว คุณยังมีสามีเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญค่ะ ดังนั้น ควรจะให้เขามีส่วนในการวางแผนอนาคตของครอบครัวด้วย เพราะมีตัวอย่างคุณแม่หลายท่านที่ครบกำหนดลาคลอดแล้ว ก็ได้คุณพ่อคนดีรับหน้าที่ดูแลลูกต่อให้ (ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้งานของคุณพ่อบางท่านมีความยืดหยุ่นสูงกว่าเดิม ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน ทำงานจากบ้านผ่านอินเทอร์เน็ตก็ได้) เท่านี้ ครอบครัวก็จะยังคงเป็นครอบครัว และเดินหน้าไปได้อย่างมีความสุข เพราะฉะนั้น อย่าลืมปรึกษาคนข้างกายนะคะ
อย่ารู้สึกผิด
สำหรับคุณแม่ที่รักในงานที่ทำอยู่ และต้องการจะกลับไปเพราะยังสนุกกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อนร่วมงาน หรือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เคยได้รับ สิ่งหนึ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงให้ห่างก็คือ การรู้สึกผิดที่ไม่สามารถดูแลลูกได้ด้วยตนเอง ซึ่งในข้อนี้ การมองหาพี่เลี้ยงดี ๆ หรือเนิร์สเซอรี่ที่มีคุณภาพอาจช่วยทดแทนความรู้สึกนี้ได้ (บางทีการฝากหลานให้คุณย่าคุณยายเลี้ยงก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน เมื่อท่านได้ใกล้ชิดหลาน ๆ ก็อาจช่วยให้หัวใจของผู้สูงอายุสดใสมีความสุขได้ค่ะ แต่ต้องพิจารณาจากสุขภาพของท่านด้วยนะคะ)
คุณแม่ที่ตัดสินใจลาออกจากงานมาดูแลลูกอยู่บ้านก็เช่นกัน บางครั้งอาจเกิดความรู้สึกผิดหากครอบครัวมีปัญหาด้านการเงิน ในส่วนนี้แก้ได้โดย คุณแม่อาจช่วยคุณพ่อประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพราะเมื่อไม่ต้องไปทำงาน ค่าใช้จ่ายในการแต่งเนื้อแต่งตัว ค่าเดินทาง ค่าอาหารกลางวันก็อาจจะลดลงไปตามส่วน นอกจากนี้ ก็อาจมองหางานพาร์ทไทม์เบา ๆ ทำได้ เช่น ทำธุรกิจออนไลน์ หรือเป็นอาสาสมัครช่วยทำกิจกรรมสังคม เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์เช่นนี้ การตัดสินใจเลือกทางที่ต้องการอาจไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด แต่สิ่งที่เราสามารถเตรียมเอาไว้ล่วงหน้าได้ก็คือ การมีทางออกหลาย ๆ ทางไว้ในกรณีที่ต้องตัดสินใจ เพราะในที่สุดแล้ว คนที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจครั้งนี้ก็คือตัวคุณแม่เอง ไม่ใช่เพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่เจ้านาย ดังนั้น ควรเคารพการตัดสินใจของตนเอง เพราะคุณเป็นคนที่เข้าใจทุกอย่างดีที่สุดค่ะ
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก more4kids.info
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น