วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552



ไอเดียตุนเสบียง "ขนม-ของว่าง" หลังเลิกเรียน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 5 กุมภาพันธ์ 2552 13:23 น.



ขึ้นชื่อว่า "ของว่าง - ขนม" คงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่วัยเด็กต้องการ นอกจากจะช่วยเสริมความสุขในชีวิตประจำวันแล้ว ขนม หรือของว่างบางชนิดยังมีคุณค่าทางอาหาร และจำเป็นต่อร่างกายด้วย โดยสัดส่วนที่พอเหมาะสำหรับพลังงานที่เด็กควรได้รับจากการรับประทานอาหารว่างควรอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณอาหารทั้งหมดที่รับประทานในแต่ละวัน (อ้างอิงจากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล)

ทั้งนี้ อาหารว่างสำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 2 - 15 ปีควรเป็นอาหารที่บริโภคระหว่างอาหารมื้อหลัก และไม่ควรเกินวันละ 2 มื้อ แต่ละมื้อควรมีพลังงานเฉลี่ย 100 - 150 กิโลแคลอรี่ ก็เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว ซึ่งอาหารว่างที่ดีไม่ควรจะมีรสหวาน มัน หรือเค็มจัดจนเกินไป และควรมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย เช่น โปรตีน เหล็ก แคลเซียม วิตามิน หรือใยอาหาร

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจการรับประทานอาหารว่างของเด็กในปัจจุบันพบว่า เด็กเล็กอายุระหว่าง 3 - 5 ปี ได้รับพลังงานจากอาหารว่างมากเกินไป โดยมาจากการชื่นชอบรับประทานขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม ซึ่งมีส่วนผสมของแป้ง ไขมัน และน้ำตาลในปริมาณสูง เดี๋ยวนี้มองไปทางไหนจึงมักพบแต่เด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพ มีโรคอ้วนถามหากันมากขึ้น

การตุนเสบียง "ของว่าง" ในตู้เย็นไว้รอท่าเด็ก ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลย โดยมีคำแนะนำในการเลือกซื้อดังนี้

1. อาหารว่างที่มีประโยชน์และควรมีติดไว้ประจำบ้านอาจเป็น นมจืด ผลไม้อบแห้ง (ชนิดไม่หวาน) ขนมปังกรอบชนิดโฮลวีท หรือ ผลไม้สด (กล้วย ส้ม มะละกอ ฝรั่ง ชมพู่) ซึ่งการจัดเตรียมอาหารว่างสำหรับเด็กอาจตัดผลไม้เป็นชิ้นเล็ก ๆ พอคำ และควรหลีกเลี่ยงผลไม้สดที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน ลำใย ขนุน

2. เครื่องดื่ม อาจเป็นนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม หรือน้ำผลไม้ ซึ่งควรพิจารณาเรื่องของน้ำตาล หากมีน้ำตาลสูงจนเกินไปก็ไม่ควรให้เด็กบริโภค หรือถ้าเป็นไปได้ คุณพ่อคุณแม่มีเวลาคั้นน้ำผลไม้ให้ลูกรับประทานเองได้ก็จะดี และมีประโยชน์มากกว่า



3. พืชหัว และธัญพืช เช่น เมล็ดทานตะวันอบ เม็ดฟักทองอบ เม็ดแตงโตอบ ถั่วต้ม ข้าวโพดต้ม มันต้ม เหล่านี้ก็เป็นอาหารที่มีประโยชน์สำหรับเด็กเช่นกัน แต่ไม่ควรเลือกธัญพืช ฯลฯ ที่ผ่านการทอด การอบเนย เพราะมีแคลอรี่สูงเกินความจำเป็น เช่น ข้าวโพดอบเนย ถั่วทอด

4. ขนมไทย ๆ เช่น ถั่วแปบ ขนมตาล ขนมกล้วย ถั่วเขียวต้ม ฯลฯ ขนมเหล่านี้หลายชนิดมีประโยชน์เพราะมีการนำธัญพืชมาเป็นส่วนประกอบ แต่ไม่ควรเลือกบริโภคขนมไทยประเภทที่มีกะทิ มะพร้าว หรือน้ำตาลเยอะ เพราะอาจทำให้เด็กอ้วนได้

ของว่างที่ไม่แนะนำสำหรับเด็กโดยเด็ดขาด

1. น้ำอัดลม
2. เบเกอรี่ที่มีไขมันสูง และรสหวานจัด เช่น คุกกี้ เค้ก
3. ขนมกรุบกรอบ ประเภท มันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบ
4. ลูกกวาด ลูกอม ช็อคโกแลต
5. ไอศกรีม
6. ของว่างประเภททอด หรือปิ้งย่างจนไหม้

การรับประทานขนม - ของว่าง ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาดี ๆ ที่เด็กจะได้มีความสุข เพลิดเพลิน ในขณะเดียวกัน หากผู้ปกครองมีความใส่ใจกับขนมของลูก ๆ คัดสรรแต่ของที่มีคุณค่า มีสารอาหารที่จำเป็น ในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะทำให้เด็กไทยไม่ต้องเผชิญกับปัญหาด้านโภชนาการและโรคอ้วนได้ในอนาคตค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติค่ะ ^^

ไม่มีความคิดเห็น: