วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ลูก“เถียง”พ่อแม่...แก้อย่างไร


พ่อแม่จะรู้สึกอย่างไรหากวันหนึ่งลูกที่เราคอยเลี้ยงดูมาขึ้นเสียงเถียงเราโดยที่ไม่ฟังเสียงใคร?!!

ปัญหาหนึ่งเมื่อลูกเริ่มที่จะมีความคิดเป็นของตัวเอง เริ่มโตพอที่จะรู้จักตัดสินใจในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พ่อแม่หลายคนจึงอาจเจอปัญหาที่คล้ายๆกันในเรื่องของพฤติกรรมของลูก โดยเฉพาะคำพูดของลูกที่อาจดูก้าวร้าว และดูเหมือนว่า ความเข้าใจระหว่างพ่อแม่และลูกจะหายากกว่าที่ผ่านมา แต่ทว่าคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ถ้าในขณะที่ลูกกำลังเสียงดังใส่พ่อแม่นั้น พ่อแม่ได้โต้ตอบกลับมาในน้ำเสียงที่ดังไม่แพ้กัน

ในเรื่องนี้ พญ.สุธิรา ริ้วเหลือง จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์กล่าวว่า "เมื่อลูกเริ่มโตพอที่จะมีความคิดเป็นของตัวเอง อาจมีบางครั้งที่เขาเริ่มไม่ยอมทำตามที่พ่อแม่บอก และมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้องเสมอไป ดังนั้นความเข้าใจระหว่างพ่อแม่และลูกอาจถูกบั่นทอนลงไปได้ ซึ่งไม่มีครอบครัวไหนอยากให้ลูกโตมาเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง ยึดตัวเองเป็นหลักโดยที่ไม่ฟังเสียงใคร แต่การที่ลูกเริ่มที่จะเถียงพ่อแม่นั้นได้เป็นสัญญาณที่บอกว่าเขามีความคิด มีเหตุผล ดังนั้นพ่อแม่ควรจะคำนึงไว้ว่า ลูกเริ่มมีความคิดที่เป็นของตัวเองแล้ว ลูกไม่ใช่เด็กๆที่เราจะบอกอะไรแล้วเขาจะทำตามทุกอย่างเหมือนเมื่อก่อน เมื่อเด็กมีเหตุผลร่วมกับอารมณ์”



“สิ่งที่พ่อแม่ควรทำอย่างแรกคือต้องเข้าใจเขาก่อนว่า สิ่งที่ลูกเป็นนั้นคือพัฒนาการของเขาที่เริ่มมองตัวเองเป็นหลัก เด็กวัยนี้จะคิดว่าเขาถูกต้องเสมอ เราต้องรับฟังเขาก่อน โดยที่ให้เขาชี้แจงว่าทำไมถึงคิดอย่างนั้น พ่อแม่และลูกต้องแชร์กันเช่น หากลูกเถียงว่า ของเล่นชิ้นนี้เป็นของเขา เขาซื้อมาเอง เราต้องถามว่า เอาเงินทีไหนไปซื้อ เราต้องถามถึงสาเหตุและให้เขาพูดอย่างมีเหตุผล หรือถ้าหากเขาไม่ทำการบ้าน แต่บอกว่าทำแล้ว เราต้องบอกลูกว่าอย่าเถียงพ่อแม่ เพราะมันไม่ดี ถ้าทำการบ้านแล้วให้เอามาให้พ่อแม่ดูด้วย เราต้องเชื่อก่อนแล้วหลักฐานค่อยตามมา เราไม่ต้องต่อว่า ถ้าทำการบ้านไม่เสร็จ ก็บอกว่าไม่เสร็จ หาทางออกให้เขาใจเย็น ในขณะที่พ่อแม่ก็ต้องอดทนและเข้าใจพฤติกรรมของลูกด้วย ซึ่งหากผู้ใหญ่เริ่มต้นด้วยความเข้าใจ รับฟัง มีเหตุผล เด็กก็จะเถียงน้อยลง แต่ถ้าเราบังคับ ใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกไม่ควร เด็กก็จะไม่ยอม ถ้าพ่อแม่เสียงดัง เมื่อลูกโตขึ้น มีอิสระ เขาก็จะทำกับพ่อแม่เช่นนั้นเหมือนกัน” พญ.สุธิราแนะ

อย่างไรก็ดี เมื่อการถกเถียงมักมีอารมณ์เข้ามาด้วยเสมอ ถ้าลูกเสียงดังพ่อแม่ต้องมีสัญญาณเตือน ไม่ว่าจะเป็นคำพูด น้ำเสียง เพราะพ่อแม่ต้องจัดการอารมณ์ของลูกให้ได้ก่อน มิเช่นนั้นเขาก็จะไม่รับฟังอะไรทั้งสิ้น แต่หากในทางธรรมแล้ว ปัญหาการถกเถียงของลูกนั้นแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุตได้ให้คำแนะนำว่า

“เวลาที่เราถกเถียงกันคุณแม่ขุ่นมัวหรือเปล่าคะ ถ้าคุณแม่ไม่ขุ่นมัวการถกเถียงนั้นก็เป็นโอกาสให้เด็ก ๆ กับเราได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน แต่ถ้าเผื่อว่าคุณแม่ขุ่นมัวคราวนี้มันเป็นการขัดแย้งแล้ว ลูกจะเอาอย่าง แม่จะเอาอย่าง เวลาที่เราขุ่นมัวเพราะกิเลสเข้าครอบงำ การขัดแย้งจะไม่มีใครได้เรียนรู้เลย ขอให้เรารักษาใจในฐานะที่เป็นแม่ ที่จะสอนให้ลูกรู้โดยการปฏิบัติของเราว่าการแสดงความคิดเห็นด้วยการพูดนั้นทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำได้ แต่ขอให้เคารพกันด้วยการทำหน้าที่ที่จะรักษาใจของเราในขณะแสดงความคิดเห็นนั้นอย่าให้มีกิเลสเข้าครอบงำ การฝึกให้มีโอกาสพูดคุยกันนั้นเด็ก ๆ จะกล้าหาญมากขึ้นและถ้าเผื่อจะให้จิตสำนึกที่เขาจะรู้ว่าเขาควรจะพูดอะไรในเวลาไหนและการใช้โอกาสแห่งการพูดนั้นจะทำให้คนไม่ทุกข์ยากได้อย่างไร คราวนี้ลูกของเราจะเก่งขึ้นจากโอกาสที่คุณแม่ให้ ขอให้คุณแม่รักษาใจของคุณแม่อย่าให้มีกิเลสเข้าครอบงำในขณะที่เรากำลังแสดงความคิดเห็นกับลูกเอาไว้ นั่นเป็นโอกาสที่ดีที่ลูกจะได้เรียนรู้ว่าความสงบเย็นของจิตนั้นการถกเถียงจะเป็นประโยชน์ไม่ใช่การขัดแย้งเพราะมีกิเลสเข้าครอบงำ ขอให้มีความสุขกับการที่ได้แสดงความคิดเห็น”

สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนแนวทางปฏิบัติที่พ่อแม่ควรตระหนักก่อนที่ความสัมพันธ์และความเข้าใจระหว่างพ่อแม่และลูกจะถูกบั่นทอนทุกวันๆเพียงเพราะคำพูดที่ไม่เข้าใจกัน ดังนั้นหากเราหันหน้ามาคุยกันอยู่บนเหตุผลก็คงเป็นเรื่องที่ดีสำหรับทุกคน ในขณะที่ลูกๆเองก็ไม่ควรลืมว่า การที่ลูกขึ้นเสียงกับพ่อแม่ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องอะไรนั้น หากเป็นการขึ้นเสียงอย่างไร้เหตุผล โดยที่ไม่สนว่าคนตรงหน้าคือ พระในบ้านนั้น นับเป็นการสร้างบาปไปโดยไม่รู้ตัว

ไม่มีความคิดเห็น: