วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2552

วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552

“เด็กๆVSศิลปะ” ในมุมมองของพี่สาวนายก





มีหลายคนมักกล่าวกันว่า สมุดระบายสี ดินสอสีและทุกอย่างที่เกี่ยวกับศิลปะเป็นของอาวุธข้างกายของเด็กหลายคน เพราะเด็กส่วนใหญ่มักสนุกกับการสร้างจินตนาการบนกระดาษวาดรูป ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีอีกครั้งหนึ่งที่ทางทีมงานLife and Family ได้มีโอกาสพบ ศ.พญ.อลิสา วัชรสินธุ พี่สาวคนเก่งของนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและเป็นคุณแม่ของน้องไอติมที่หลายคนแอบชื่นชม พร้อมกับพูดคุยกับคุณพล ตัณฑเสถียร ดาราชื่อดังมากความสามารถในวันแถลงข่าวงาน “วันระบายสีเด็กทั่วโลก (World Kids Colouring Day) ที่จะจัดขึ้นวันที่ 5 พ.ค.นี้ เวลา 10.00-20.00 น. ณ ลานเอเทรี่ยม 2 เซ็นทรัล เวิลด์

อย่างไรก็ดี ศ.พญ.อลิสา วัชรสินธุ หัวหน้าหน่วยจิตเวชเด็ก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงความสำคัญของศิลปะว่า “ศิลปะเป็นเครื่องมือที่ดีในการพัฒนาความสามารถของเด็ก หากพ่อแม่ให้เด็กๆได้รู้จักศิลปะเร็วเพียงใด เด็กๆยิ่งได้ประโยชน์จากการใกล้ชิดศิลปะมากเท่านั้น ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังได้นำศิลปะต่างๆมาใช้ในการบำบัดเด็กอีกด้วย ซึ่งศิลปะในการรักษานั้น แม้จะไม่ใช่การรักษาหลัก แต่ศิลปะเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่งที่นิยมใช้เพื่อการสื่อสารสำหรับกับเด็กบางประเภทเช่น เด็กที่มีปัญหาด้านอารมณ์ หรือเด็กที่ถูกทารุณกรรม ผู้ที่ไม่สามารถสื่อออกมาทางคำพูดได้ จึงต้องอาศัยการวาดภาพแทน รวมไปถึงกลุ่มเด็กที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเองก็มักอาศัยศิลปะในการสื่อสารด้านอารมณ์เช่นกัน”



ศ.พญ.อลิสา วัชรสินธุ
ส่วนข้อดีของศิลปะในมุมมองของศ.พญ.อลิสานั้น คุณหมอกล่าวว่า “ศิลปะเป็นสิ่งที่คู่กับเด็กๆมาโดยตลอด การที่เด็กๆชอบวาดรูป ระบายสี ใช้เวลาว่างอยู่ในโลกศิลปะนั้น นับเป็นกิจกรรมที่ลงทุนค่อนข้างน้อยเพราะอุปกรณ์ที่ใช้ก็มีเพียงดินสอสี กระดาษ หรือพู่กันตามถนัด ซึ่งข้อดีที่เด่นชัดของศิลปะนั้น คือ ศิลปะได้สร้าง“จินตนาการ”ของเด็กอยู่เสมอ ดังนั้นพ่อแม่ควรแบ่งเวลาอยู่กับลูกและทำกิจกรรมร่วมกันผ่านศิลปะก็เป็นได้เช่น การวาดรูปด้วยกันพ่อแม่ลูก หรือชื่นชมลูกทุกครั้งที่เขาใช้เวลาอยู่กับศิลปะ”

อย่างไรก็ดีศ.พญ.อลิสา ได้ฝากถึงพ่อแม่ทุกคนว่า “แม้ว่าการที่ลูกชอบจับดินสอวาดภาพระบายสีจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเขาและพ่อแม่เองก็รู้สึกภูมิใจ แต่ความไม่พอดี และการคาดหวังในตัวเด็กจากพ่อแม่ก็อาจทำร้ายเขาไม่รู้ตัว เพราะเด็กบางคนรักศิลปะมาก จนพ่อแม่เห็นแววว่าลูกน่าจะไปทางสายศิลปะได้ดีกว่ากิจกรรมอื่น จึงเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ และคาดหวังในตัวลูกว่า เขาจะต้องเป็นศิลปิน ต้องวาดรูปเก่ง ซึ่งอันที่จริงแล้วการคาดหวังของพ่อแม่จะเป็นการทำร้ายเขาหากเขาถูกบีบบังคับ ซึ่งหมออยากบอกพ่อแม่ทุกคนว่า ปัจจุบันนี้เด็กไทยเรามักอยู่ในสภาพที่ถูกกดดันมาก เด็กเครียดเพราะความคาดหวังของพ่อแม่ โดยที่พ่อแม่เองไม่ได้คำนึงถึงเรื่อง “พรสวรรค์” ฉะนั้นพ่อแม่ทุกคนควรตระหนักอยู่เสมอว่า สิ่งใดที่ลูกชอบ ควรให้เขาลงมือทำอย่างมีความสุข อย่าไปคาดหวังกับเขา และเชื่ออยู่เสมอว่า ไม่ว่าเขาจะเลือกกิจกรรมอะไร สิ่งที่เขาทำคือสิ่งที่เขาชอบ”


คุณพล ตัณฑเสถียร

ทางด้าน คุณพล ตัณฑเสถียร นักแสดงชื่อดังได้แนะว่า “ปัจจุบันนี้ โกส่วนใหญ่มักใช้เวลาไปกับการเล่นเกม ซึ่งจริงแล้วมันไม่เหมาะสมเลย เด็กๆควรจะได้ทำกิจกรรมอื่นบ้าง แต่เรื่องนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับพ่อแม่ด้วยว่ามีเวลาให้ลูกมากน้อยแค่ไหน เพราะพ่อแม่บางคนทำงานจนไม่สามารถแบ่งเวลาให้ลูกได้อย่างที่ควรจะเป็น และไม่ได้คำนึงว่าเด็กๆกับศิลปะเป็นสิ่งที่ควรอยู่ด้วยกัน เด็กคนไหนห่างไกลศิลปะ ผมว่าน่ากลัวนะ เพราะศิลปะมันเป็นส่วนหนึ่งในการขัดเกลาจิตใจเด็ก แม้ว่าเด็กแต่ละคนจะมีความชอบที่ต่างกันไป แต่ผมเชื่อว่าจินตนาการส่วนหนึ่งมาจากโลกแห่งศิลปะ ผมจึงอยากให้พ่อแม่ให้ความสำคัญกับศิลปะมากขึ้น เพราะอย่าลืมว่าศิลปะได้สร้างความอ่อนโยนทางด้านจิตใจให้กับเด็กๆครับ”

อย่างไรก็ตามศ.พญ.อลิสาและคุณพลต่างมีความเห็นที่ตรงกันว่า “ศิลปะได้สร้างจินตนาการและพัฒนาทักษะด้านความคิดของเด็กๆได้เป็นอย่างดี แต่ศิลปะก็เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้นของเด็กๆเพราะอย่างที่บอกว่าเด็กแต่ละคนอาจชอบไม่เหมือนกัน เด็กบางคนอาจไม่ถนัดศิลปะ และเลือกที่จะเล่นกีฬา พ่อแม่ก็ควรส่งเสริมไปทางด้านนั้นๆแต่อย่าบังคับลูกจนเกินไป เพราะมิเช่นนั้นแล้ว เด็กๆอาจจะเบื่อในสิ่งที่เขารักก็เป็นได้ ทุกอย่างควรอยู่บนพื้นฐานของความพอดี โดยการส่งเสริมในด้านที่เขาถนัด แต่อาจเสริมกิจกรรมอื่นเพื่อความหลากหลายมากขึ้นก็ได้”

วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2552

ลูกชิ้นเด็กกุ๊กไก่ "งานวิจัย"วัยเยาว์



ลูกชิ้นเด็กกุ๊กไก่ "งานวิจัย"วัยเยาว์

คอลัมน์ สดจากเยาวชน




ลูกชิ้นของฉัน ลูกชิ้นของฉัน ท่าทางไม่ปลอดภัย...

เอ๊ะ! เสียงเพลงมาจากไหนนะ

เดินตามเสียงใสๆ ไปเรื่อยๆ จนถึงห้องอนุบาล 1/3 โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ ก็พบคำตอบ

เด็กๆ กำลังร้องเพลง "ลูกชิ้นของฉัน" ด้วยท่าทางสนุกสนาน น่ารัก สดใส นับเป็นการเริ่มต้นการเรียนรู้แบบโครงงาน (Project Approach) เรื่อง "ลูกชิ้น"

การเรียนรู้แบบโครงงาน หรือ Project Approach คุณครูจะให้นักเรียนออกมาเสนอหัวข้อที่สนใจหรืออยากเรียนรู้ โดยพูดคุยกันในชั้นเรียน เด็กๆ เสนอมาหลากหลายหัวข้อ เช่น เรื่องดิน ชมพู่ มะละกอ และลูกชิ้น คุณครูจึงทำกราฟแล้วให้เด็กๆ ออกมาติดชื่อตนเองในหัวข้อที่สนใจ

สรุปออกมาได้ว่า ลูกชิ้นเป็นเรื่องที่เด็กๆ สนใจมากที่สุด โดยเริ่มเรียนรู้จากประสบการณ์เดิมที่มีอยู่เรื่องลูกชิ้น ตั้งคำถามว่าสนใจและสงสัยอะไรเกี่ยวกับลูกชิ้น เช่น ลูกชิ้นคืออะไร ลูกชิ้นทำมาจากอะไร ลูกชิ้นมีกี่ชนิด ทำไมลูกชิ้นมีหลายสี ทำไมลูกชิ้นถึงเป็นลูกกลมๆ

จากนั้นให้เด็กๆ สืบค้น หาคำตอบ ทั้งจากอินเตอร์เน็ต พจนานุกรมและนิตยสารต่างๆ โดยหาภาพลูกชิ้น แล้วนำลูกชิ้นของจริงหลายชนิด มาร่วมพูดคุย สำรวจ เปรียบเทียบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในห้องเรียน

น้องสโนว์ ด.ญ.ชัญญา เตชะไกรศรี สาวน้อยเสียงใส ให้คำตอบว่า "ลูกชิ้นทำมาจากเนื้อสัตว์ และเครื่องปรุง มาบดผสมกัน เอามาปั้นแล้วลวกถึงจะรับประทานได้ ลูกชิ้นมีหลายชนิด มีทั้งลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นไก่ ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นปลาแซลมอน ลูกชิ้นปลาหน้าหมีแพนด้า ลูกชิ้นสาหร่าย และลูกชิ้นญี่ปุ่น"




การค้นคว้าในสัปดาห์นี้ เด็กๆ จะได้สำรวจลักษณะ ขนาด เปรียบเทียบความเหมือนความต่าง จากการสังเกตและการสัมผัส รวมทั้งทำศิลปะเกี่ยวกับลูกชิ้น เช่น ลูกชิ้นพิมพ์ภาพ กลิ้งสีด้วยลูกชิ้น ทำลูกชิ้นยักษ์จากกระดาษนิตยสาร และออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับลูกชิ้น

น้องพริมมี่ ด.ญ.พริม วรรณประภา นักออกแบบตัวยง เล่าว่า "ลูกชิ้นที่ซื้อในห้างสรรพสินค้าจะมีแบบห่อโฟมคลุมด้วยพลาสติก กับแบบห่อด้วยสุญญากาศ ซึ่งเก็บได้นานกว่า ที่โรงเรียนหนูได้วาดรูปลงบนถุงพลาสติก เพื่อเอาไว้ใส่ลูกชิ้นที่เราทำเสร็จแล้ว บนถุงต้องมีรูปหมู เพราะเป็นลูกชิ้นหมู ถ้าเป็นลูกชิ้นไก่ต้องวาดรูปไก่ลงไป ทำไว้หลายๆ ใบค่ะ เพื่อนๆ ในห้องก็ช่วยกันทำถุงใส่ลูกชิ้นทุกคนเลย"

หลังได้คำตอบว่าลูกชิ้นคืออะไรแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนลูกชิ้นทำอย่างไร น้องสโนว์เล่าประสบการณ์ที่ได้ลองทำลูกชิ้นปลาในห้องเรียนว่า "ต้องนำเนื้อปลามาบดก่อนแล้วใส่เกลือ บีบใส่หม้อต้ม สโนว์และเพื่อนๆ ปั้นลูกชิ้นใส่ในหม้อ พอสุกแล้วก็ได้ชิมฝีมือของหนูเอง อร่อยมากๆ พอกลับบ้านก็อยากให้คุณแม่ทำให้ทานที่บ้าน จะได้ไม่ต้องไปซื้อ ทำเองทั้งสะอาด ปลอดภัย ประหยัดด้วยค่ะ"




วันต่อมาคุณครูให้เด็กๆ เล่นบทบาทสมมติร้านขายลูกชิ้น เด็กช่วยกันจัดตั้งร้าน จัดวางลูกชิ้น ตกแต่งร้านให้สวยงาม และเรียนรู้เกี่ยวกับลูกชิ้นชนิดต่างๆ กันต่ออีก เด็กๆ และคุณครูร่วมกันหาลูกชิ้นชนิดต่างๆ ที่ยังไม่เคยเห็น นำมาสำรวจดูลักษณะ

น้องพริมมี่อธิบายลักษณะลูกชิ้นว่า "ลูกชิ้นรักบี้เป็นรูปยาว ไม่เป็นวงกลม เหมือนวงรี ลูกชิ้นปูอัดเป็นลูกกลมๆ สีชมพูอ่อน มีกลิ่นเหม็นคาว ลูกชิ้นกุ้งมีสีน้ำตาล แข็งๆ ไม่นิ่ม ลูกชิ้นเห็ดหอม เนื้อนิ่มๆ ลื่นๆ เหมือนลูกบอลลูกเล็ก ลูกชิ้นสาหร่าย รูปทรงกลมๆ ลื่นๆ มีหลายสี"

เมื่อเด็กๆ รู้จักลูกชิ้นทะลุปรุโปร่งแล้ว ก็ถึงเวลาหาความรู้นอกรั้วโรงเรียน คุณครูพาเด็กๆ ไปทัศนศึกษาที่ซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อค้นหาคำตอบว่าลูกชิ้นมีที่ไหนบ้าง

ที่นี่เด็กๆ ต่างตื่นตาตื่นใจที่ได้พบกับดินแดนแห่งลูกชิ้น เด็กๆ พากันเดินสำรวจรอบๆ รีบเดินหาลูกชิ้นเป้าหมายทันที คุณครูไม่รอช้ารีบแจกใบสำรวจลูกชิ้นให้เด็กๆ ทำเครื่องหมายว่าลูกชิ้นที่เห็นเป็นลูกชิ้นอะไร ราคาเท่าไหร่ ก่อนกลับก็ไม่พลาดซื้อลูกชิ้นกลับมาทำสุกี้ โดยคุณครูให้เด็กๆ ช่วยกันล้างทำความสะอาดลูกชิ้นและผัก

ได้ส่วนประกอบครบแล้ว พ่อครัวแม่ครัวตัวน้อยใส่ลูกชิ้นและผักลงหม้อ รอสุก เด็กๆ ร่วมรับประทานกันอย่างเอร็ดอร่อย

จากกิจกรรมต่างๆ ที่คุณครูจัดให้เด็กๆ ลงมือทำด้วยตนเองนั้น ทำให้เด็กๆ สนุกสนานและสนใจมากกว่าการนั่งฟังเฉยๆ ในห้องเรียน เด็กๆ มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างสรรค์จินตนาการในรูปแบบงานศิลปะ ทุกคนช่วยกันวาดรูปและแต่งนิทาน

น้องสโนว์เป็นตัวแทนเล่านิทานเรื่องลูกชิ้นจอมซนว่า "มีลูกชิ้นจอมซน ไม่เชื่อฟัง หนีพ่อแม่มาเดินเล่นในป่าใหญ่โดยลำพัง เกิดหลงทางในป่ากลับบ้านไม่ถูก แต่ว่าโชคดี มีนกตัวใหญ่บินผ่านมา จึงช่วยลูกชิ้นจอมซนไว้ แล้วส่งกลับถึงบ้านในทันใด หลังจากนั้นลูกชิ้นจึงไม่กล้าซุกซนอีก และเชื่อฟังพ่อแม่ ไม่กล้าหนีเที่ยวไปไกลอีกแล้ว"

สัปดาห์สุดท้ายของการเรียนรู้ คุณครูกับลูกศิษย์ตัวน้อยร่วมกันสรุปสิ่งต่างๆ ที่เรียนรู้มา นำมาจัดนิทรรศการให้ชมกัน เด็กๆ ร่วมกันตกแต่งห้องเรียน นำสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างไว้จัดวางตามมุมต่างๆ ในห้อง ช่วยกันปั้นลูกชิ้นด้วยดินน้ำมันสำหรับเป็นของที่ระลึกให้ผู้ปกครองที่มาเยี่ยมชม

เสียงวิทยากรรุ่นเยาว์บอกเล่าเรื่องราวของลูกชิ้นให้ท่านผู้ชมฟังอย่างน่าเอ็นดู
……………

วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552

เลิกพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กได้ด้วย 3 ขั้นตอน





เด็กมักถูกมองว่าไม่น่ารัก หากพวกเขาแสดงพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่เรียกว่า "ก้าวร้าว" ออกมา ดังนั้นก่อนที่จะยอมปล่อยให้ลูก ๆ กลายเป็นคนไม่น่ารักในสายตาของผู้ใหญ่รอบข้าง ลองหันมา ลด ละ เลิก พฤติกรรมเหล่านั้นในเด็กกันดูดีไหมคะ เริ่มต้นจาก

- สอนให้เด็กตระหนักถึงสิ่งที่เขาทำลงไปว่า "ไม่น่ารักเลย" ทั้งนี้ ผู้สอน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ญาติผู้ใหญ่ หรือคุณครู ควรทำด้วยอาการสงบ สุภาพ และจี้ให้ตรงจุดถึงพฤติกรรมที่เขาแสดงออกด้วย ยกตัวอย่างการก้าวร้าวทางวาจา เราอาจแบ่งแยกสิ่งที่เด็กต้องการจะสื่อสารออกมาแบ่งออกได้เป็นสองส่วน ก็คือ เนื้อหา และวิธีการ ซึ่งในกรณีนี้ ถ้า "เนื้อหา" ที่เด็กพูดออกมาเป็นคำหยาบคาย ก็ไม่ต้องสนใจวิธีการสื่อสารแล้ว เพราะถึงอย่างไร มันก็คือการแสดงความหยาบคาย

ยกตัวอย่างเช่น ด.ช.เก่ง บอกกับคุณป้าที่ซื้อหุ่นยนต์มาฝากว่า "หุ่นยนต์ที่ป้าซื้อมาฝากเก่งไม่เห็นจะดี/สวยเลย สู้ของ...ก็ไม่ได้" คุณป้าฟังวาจาหลานแล้วคงเดือดปุด ๆ อยากจะริบของคืนไว ๆ ของก็ซื้อมาฝาก ไม่ชอบแล้วยังมาว่ากันเสียอีก

ในกรณีนี้ ถ้ามีคุณแม่หรือผู้ใหญ่ท่านอื่นอยู่ในละแวกใกล้เคียง ควรจะพา ด.ช.เก่ง ตัวแสบออกมาคุยกันข้างนอก เพื่อสอนเขาว่า เขาอาจจะไม่ชอบของขวัญนั้นเลย แต่ก็ไม่ควรพูดทำร้ายความรู้สึกของคนอื่น ถ้าลูกไม่ชอบ ก็แค่ขอบคุณคุณป้าที่คุณป้านึกถึง และซื้อของขวัญมาฝาก

การสอนให้เด็กแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ นอกจากจะสุภาพ ไม่ทำให้ใครเสียน้ำใจแล้ว ยังช่วยให้เด็กมองเห็นถึงทางออกอย่างเหมาะสมด้วย และไม่จำเป็นต้องสอนให้เด็กโกหกว่า ชอบของเล่นชิ้นนั้นมากเพื่อคุณป้ายิ้มแก้มปริ ทั้ง ๆ ที่เด็กไม่ได้ชอบมันเลย
อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของ เนื้อหาที่เด็กพูดออกมา แม้จะไม่มีการใช้คำหยาบคายเลย แต่เมื่อเจอเข้ากับวิธีการนำเสนอของเด็ก ก็อาจทำให้ผู้ปกครองฟังแล้วรู้สึกว่ามันแฝงไปด้วยความก้าวร้าวก็เป็นได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ผู้ปกครองก็อาจต้องเข้ามาดูแลในส่วนของ "การนำเสนอ" ความรู้สึกนึกคิดของเด็กผ่านทางวาจา

ยกตัวอย่างเช่น น้องอ้ออายุ 4 ขวบกำลังเล่นอยู่กับคุณยาย แล้วมีของเล่นชิ้นหนึ่งที่อยู่ไกลตัวออกไป น้องอ้อก็เลยบอกให้คุณยายหยิบของเล่นชิ้นนั้นให้เธอ โดยใช้ประโยคว่า "หยิบตุ๊กตาให้หน่อย" เพียงห้วน ๆ สั้น ๆ ประโยคนี้ไม่มีคำหยาบคายปรากฏก็จริง แต่รู้สึกได้ถึงความก้าวร้าวที่แอบแฝงอยู่

แต่ก็มีคุณยายหลายคน ยิ้มอย่างเอ็นดูและทำตามคำสั่งของหลาน ซึ่งอาจจะดีกว่า หากคุณยายสอนให้หลานเข้าใจว่า ควรจะใช้คำพูด และกิริยาแบบใดกับผู้ใหญ่จึงจะเหมาะสม เพราะแค่คุณยายสอนน้องอ้อว่าควรเปลี่ยนประโยคเป็น "คุณยายขา คุณยายช่วย/กรุณา หยิบตุ๊กตาให้อ้อด้วยได้ไหมคะ" และเมื่อได้ของเล่นชิ้นโปรดแล้ว ก็ต้องยกมือไหว้พร้อมกล่าวคำว่า "ขอบคุณค่ะ" หลานก็จะเป็นเด็กน่ารักมากขึ้นอีกมากมาย

- ปรับพฤติกรรมผู้ปกครองให้เป็นต้นแบบของลูก เมื่อทำให้เด็กตระหนักได้ถึงความก้าวร้าวแล้ว อีกคนหนึ่งที่ต้องตระหนัก หรือเตือนสติตัวเองบ่อย ๆ ก็คือตัวผู้ปกครองนั่นเอง ว่าสิ่งที่ผู้ปกครองประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกวันนั้น เป็นพฤติกรรมที่ก้าวร้าวหรือไม่ เพราะมีโอกาสที่เด็กจะซึมซับพฤติกรรมของพ่อแม่ผู้ปกครองเอาไว้ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ - สถานการณ์แบบเดียวกันขึ้น เด็กก็อาจจะดึงประสบการณ์ที่จดจำมาจากผู้ปกครองมาใช้โดยไม่รู้ตัว



ยกตัวอย่างเช่น เวลาขับรถยนต์บนท้องถนนในกรุงเทพฯ แล้วถูกรถคันอื่นปาดหน้า พ่อแม่จำนวนไม่น้อย เผลอสบถคำหยาบคายออกมาให้ลูกฟัง โอกาสที่ลูกจะจดจำ และนำมาใช้บ้างเมื่อเขาโตมากขึ้นก็มีสูง

ในจุดนี้ ถ้าพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกโตขึ้นแล้วเป็นเหมือนตัวเอง หรือต้องมาอารมณ์เสียเพราะลูกใช้ถ้อยคำประชดประชัน เสียดสีย้อนกลับเข้าหาตัวพ่อแม่เอง สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ ตระหนักถึงพฤติกรรมของตัวเอง และปรับให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง ใช้คำพูดสุภาพ เป็น "ตัวอย่าง" ที่ดีของลูก

- สุดท้าย ปลูกฝังลูกให้ทำตามในสิ่งที่เหมาะที่ควร โดยมีพ่อแม่เป็นบุคคลต้นแบบ (ที่ดีที่สุด) เช่น สอนให้ลูกฝึกใช้คำพูดสุภาพอย่างต่อเนื่อง สอนการควบคุมโทนเสียงให้น่าฟัง

กรณีนี้อาจสร้างเงื่อนไขให้เด็กปฏิบัติตาม เช่น ถ้าเด็กอยากทานขนมมากขึ้น ๆ ตามมาด้วยการส่งเสียงร้องกรี๊ด ๆ ลงไปดิ้น หรือทุบตีพ่อแม่ พ่อแม่ต้องอดทน และบอกกับเขาว่า

"ถ้าอยากทานขนมก็ต้องบอกว่าอย่างไรคะ แม่ขา หนูขอทานขนมได้ไหมคะ"

ถ้ายาขั้นแรกยังไม่แรงพอ เด็กแสบยังเมิน ไม่อยากทำตามที่สอน ก็อาจให้พ่อแม่รุกหนักอีกรอบ โดยการพูดกับลูก ๆ อย่างสงบว่า "ถ้าหนูไม่พูดเพราะ ๆ กับแม่ แม่ก็ไม่มีขนมให้หนูนะ"

แป๊บเดียว ไม่นานเกินรอ เดี๋ยวก็มีเสียงอ่อย ๆ มาเองว่า

"ตกลงค่ะ แม่ขา หนูขอทานขนมได้ไหมคะ"

สุดท้ายถ้าเด็กยอมพูดตามเงื่อนไข พ่อแม่เพียงแค่ตบท้ายด้วยประโยคดี ๆ เช่น "ได้จ้ะ ถ้าหนูพูดกับแม่เพราะ ๆ แบบนี้ แม่ก็รู้สึกดีที่จะให้หนูทานขนมแล้วล่ะ"

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กยังอาจเกิดขึ้นได้จากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวอีกมากมาย เช่น ละครโทรทัศน์หลังข่าว รายการตลก เกมโชว์ เกมวาไรตี้ การ์ตูน ภาพยนตร์ การคบเพื่อน หรือแม้กระทั่งดูถ่ายทอดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรฯลฯ เพราะฉะนั้น พ่อแม่ควรมีกำลังใจ (อย่างมาก) ในการปลูกฝังพฤติกรรมดี ๆ ของสุภาพชนให้ลูกในยุค 2009 ค่ะ

วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2552

รับมือช่วงปิดเทอม หาวิธีป้องกันเหตุไม่คาดฝัน






ช่วงนี้โรงเรียนต่างๆเริ่มทยอยปิดภาคเรียนแล้ว เด็กส่วนใหญ่จึงมักพักผ่อนและทำกิจกรรมต่างๆอยู่ที่บ้าน ซึ่งแม้ว่าบ้านจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยมากที่สุดก็ตาม แต่จากการศึกษาการเกิดอุบัติเหตุในเด็ก กลับพบว่า บ้านเป็นสถานที่ที่มักเกิดอุบัติเหตุกับเด็กที่อยู่ในวัยซุกซน เนื่องจากเด็กไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นอันตรายกับตนเองได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จึงขอแนะนำวิธีการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กภายในบ้าน ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ดังนี้

1.บริเวณภายในบ้าน ประตูหน้าต่าง ควรติดตั้งเหล็กกั้นหรือที่ยึดประตู เพื่อป้องกันประตูหนีบ รวมทั้งที่ครอบลูกบิด เพื่อป้องกันเด็กกดลูกบิดเล่น ทำให้ประตูปิดล็อกจนไม่สามารถออกมาได้ ระเบียงบ้าน ควรติดตั้งที่กั้นแบบปิดทึบและหนาแน่น ระยะห่างระหว่างลูกกรงไม่ควรถี่เกินไปเพราะอาจทำให้ศีรษะ แขน ขาของเด็กเข้าไปติดและต้องไม่เว้นช่องห่างเกินไป อาจทำให้เด็กอาจพลัดตกลงไปได้ บันได ควรติดตั้งที่กั้นบริเวณราวบันได โดยช่องห่างระหว่างราวบันไดไม่ควรห่างเกินไป เพื่อป้องกันเด็กพลัดตก อีกทั้งไม่ควรวางของตามขั้นบันได เพราะเด็กอาจเหยียบจนลื่นล้มตกบันได



2.ปลั๊กไฟ ควรหาที่ครอบปลั๊กไฟและติดตั้งปลั๊กไฟบนที่สูงหรือในระดับที่เด็กเอื้อมไม่ถึง เพื่อป้องกันเด็กเอานิ้วหรือวัตถุอื่นแหย่เล่น ทำให้ถูกไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช๊อต

3.พัดลม ควรเลือกใช้พัดลมที่มีขาตั้งสูงและมีฝาครอบป้องกันที่ปิดล๊อกอย่างแน่นหนา เพื่อไม่ให้เด็ก เอามือไปจับใบพัด ทำให้โดนใบพัดบาด และเมื่อใช้งานเสร็จแล้วควรถอดปลั๊กออกทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันเด็กเปิดพัดลมเล่นและเอานิ้วแหย่เข้าไปในพัดลมที่ใบพัดกำลังหมุนอยู่ห้องครัว อุปกรณ์เครื่องครัว ควรจัดเก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยเฉพาะของมีคมที่สามารถใช้เป็นอาวุธได้ เช่น มีด ส้อม ควรเก็บในที่มิดชิด กระติกน้ำร้อนและกาต้มน้ำ ควรวางบนโต๊ะหรือบนชั้นเหล็กที่มีสภาพมั่นคง แข็งแรง และเด็กไม่สามารถเอื้อมถึงได้ รวมถึงไม่ควรวางบนโต๊ะที่มีผ้าคลุมโต๊ะที่ปล่อยชายยาวออกมา เพราะเด็กอาจดึงชายผ้าทำให้น้ำร้อนหกลวกตัวเด็ก



4.ห้องน้ำ พื้นห้องน้ำ ควรใช้กระเบื้องที่มีผิวขรุขระหรือมีลักษณะด้าน ไม่ควรใช้กระเบื้องที่มีลักษณะมันวาว เพราะหากเปียกน้ำจะยิ่งลื่น ทำให้หกล้มได้รับบาดเจ็บ อีกทั้งควรปูพรมยางหรือพรมเช็ดเท้าบริเวณหน้าห้องน้ำ เพื่อป้องกันเด็กลื่นล้ม หลังจากใช้ห้องน้ำเสร็จแล้ว ควรปิดประตูทุกครั้ง ไม่ปล่อยให้เด็กเข้าห้องน้ำตามลำพังเพราะอาจลื่นล้มหรือจมน้ำเสียชีวิตจากการลงไปเล่นในถังหรืออ่างน้ำ ควรปิดภาชนะกักเก็บน้ำอย่างมิดชิด เพื่อป้องกันเด็กหัวทิ่มลงน้ำและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้ปลอดภัยได้

ทั้งนี้ จุดเสี่ยงอันตรายอื่นๆภายในบ้าน เช่น จุดวางสารเคมี ได้แก่ น้ำยาทำความสะอาดพื้น น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ ผงซักฟอก ยาฆ่าแมลง และสารเคมีต่างๆ หลังใช้งานเสร็จแล้วต้องปิดฝาให้เรียบร้อย แน่นหนา จุดวางเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น กรรไกรตัดกิ่งไม้ ตะปู ค้อน หรือวัตถุที่มีลักษณะแหลมคม ควรเก็บในที่มิดชิด นอกจากนี้ ควรเก็บยารักษาโรคไว้บนที่สูงหรือในที่ที่เด็กไม่สามารถหยิบได้ เช่น ตู้วางของ หรือตู้ยาสามัญประจำบ้าน เพราะเด็กอาจนำไปรับประทานจนเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต



บริเวณนอกบ้าน บ่อน้ำหรือสระน้ำ ไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นบริเวณดังกล่าวโดยลำพัง เพราะเสี่ยงต่อการตกน้ำ ลานจอดรถ เป็นสถานที่มีความเสี่ยงมากสำหรับเด็ก เนื่องจากเป็นลานกว้างที่เด็กมักใช้เป็นสถานที่เล่น ควรสอนมิให้เด็กเล่นบริเวณดังกล่าว และรู้อันตรายของรถ หากมีรถเข้า-ออกจากบ้าน ควรให้เด็กอยู่ห่างจากรถมากที่สุด รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในการถอยรถเข้า-ออกจากบ้าน ถนนหน้าบ้าน เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเพราะมักมีรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์วิ่งผ่าน จึงไม่ควรให้เด็กเล่นบริเวณดังกล่าว เพราะอาจถูกรถเฉี่ยวชนได้รับบาดเจ็บได้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าบ้านจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด แต่หากขาดความเอาใจใส่ดูแลสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบบ้าน รวมถึงการดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษแล้ว บ้านก็อาจเป็นสถานที่ที่ก่อให้เกิดอันตรายสำหรับเด็กได้ ดังนั้น การดูแลสภาพแวดล้อมในบ้านและบริเวณรอบบ้านให้ปลอดภัย โดยจัดเก็บสิ่งของให้เป็นระเบียบ เรียบร้อย และระมัดระวังภัยต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายกับเด็ก และทำให้ช่วงปิดภาคเรียนเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและสนุกสนานของเด็ก

วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2552

ผลวิจัยชี้เด็กใจร้อนแต่เล็ก แนวโน้มข้องแวะการพนัน


รอยเตอร์ – นักวิจัยแคนาดาระบุเด็กอนุบาลที่ครูระบุว่ามีพฤติกรรม ‘หุนหันพลันแล่น’ มีแนวโน้มชอบการเสี่ยงโชค เช่น เล่นไพ่หรือพนันขันต่อก่อนก้าวเข้าสู่วัยรุ่น

ลินดา ปากานี ผู้นำการวิจัยจากศูนย์วิจัยของเซนต์-จัสติน ยูนิเวอร์ซิตี้ ฮอสปิตอล และมหาวิทยาลัยมอนทรีอัล ชี้ว่าการศึกษาที่ตีพิมพ์ในอาร์ไคฟ์ส ออฟ เพเดรียทริกส์ แอนด์ อะโดเลสเซนต์ เมดิซิน เป็นการศึกษาชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นพฤติกรรมการเสี่ยงโชคในหมู่เด็กเล็ก

ปากานีเสริมว่า ผลการศึกษานี้เป็นการเพิ่มการพนันขันต่อลงในรายการปัญหาพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความใจร้อนของเด็กเล็ก ซึ่งรวมถึงการทำผิดกฎ เรียนไม่จบชั้นมัธยม ปัญหาสุขภาพจิต และการติดยาเสพติดเมื่อโตขึ้น

นักวิจัยได้ขอให้ครูโรงเรียนอนุบาล 163 คน ทำแบบสอบถามเมื่อเปิดภาคเรียน เพื่อให้คะแนนความไม่สนใจเรียน และอาการสมาธิสั้นของนักเรียน

หกปีต่อมา เมื่อเด็กมีอายุเฉลี่ย 11.5 ปี นักวิจัยจะทำการสัมภาษณ์เด็กทางโทรศัพท์เพื่อสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการเสี่ยงโชค เช่น การเล่นไพ่หรือบิงโก การซื้อล็อตเตอรี่ เล่นวิดีโอเกมหรือวิดีโอเกมโป๊กเกอร์กินเงิน หรือพนันผลการแข่งขันกีฬาระหว่างนั่งดูข้างสนาม หรือพนันกับเพื่อน

หลังจากควบคุมปัจจัยต่างๆ เช่น องค์ประกอบของครอบครัว การศึกษาของพ่อแม่ และรายได้ของครอบครัว นักวิจัยพบว่าความหุนหันพลันแล่นที่เพิ่มขึ้นทุกหนึ่งคะแนนสมัยเรียนอนุบาล เพิ่มแนวโน้มในการเกี่ยวข้องกับการพนันเมื่อเด็กอยู่เกรดหกถึง 25%

ปากานีสำทับว่า เด็กที่เริ่มเล่นการพนันในช่วงวัยรุ่นมีแนวโน้มมีปัญหาเกี่ยวกับการเสี่ยงโชครุนแรงเมื่อเป็นผู้ใหญ่

อย่างไรก็ตาม ดร.ทิโมธี ฟอง จากแกมบลิง สตัดดี้ส์ โปรแกรม แอนด์ อิมพัลส์ คอนโทรล ดิสออร์เดอร์ คลินิก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-ลอสแองเจลีส กล่าวว่าผู้ปกครองควรตระหนักว่า ความใจร้อนและการเล่นพนันตั้งแต่เด็กไม่ได้หมายความว่าเด็กจะมีปัญหาพฤติกรรมร้ายแรงเมื่อเป็นผู้ใหญ่เสมอไป

แต่สิ่งที่งานศึกษาชิ้นนี้นำเสนอคือ หลักฐานที่ชัดเจนขึ้นที่บ่งชี้วิธีการที่พฤติกรรมการพนันก่อตัวขึ้นมาคือตั้งแต่ช่วงก่อนวัยรุ่นด้วยซ้ำ
......

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2552

5 แนวทางสอนคิด เติม"วิทย์"ให้เด็กอนุบาล





วิทยาศาสตร์เป็นยาขมสำหรับเด็ก ๆ จริงหรือ ? ถ้าเด็ก ๆ เรียนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจะยากเกินไปไหม ? ควรจะให้เด็ก ๆ อนุบาลเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างไร ? คำถามเหล่านี้ต่างพ่อแม่ผู้ปกครอง และแม้แต่คุณครูเองก็ยังสงสัยอยู่

แท้จริงแล้ววิทยาศาสตร์คือความพยายามของมนุษย์ที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสิ่งรอบตัวและตัวตนของตนเอง ซึ่งความพยายามเช่นนี้จะติดตัวกับมนุษย์เรามาตั้งแต่แรกเกิด เห็นได้จากธรรมชาติของเด็กที่มีความอยากรู้อยากเห็น ช่างสังเกตและคอยซักถามเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาเจอ และบางครั้งก็เป็นคำถามที่ยากเกินกว่าที่ผู้ใหญ่จะให้คำตอบ

ผู้ใหญ่หลายคนที่ไม่เข้าใจในธรรมชาติความเป็นนักวิทยาศาสตร์ตัวน้อยๆ ของเด็ก จึงปิดกั้นโอกาสทางการเรียนรู้ของพวกเขาโดยการไม่ให้ความสนใจกับคำถามและการค้นพบแบบเด็กๆ หรือไม่ได้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่จะส่งเสริมและต่อยอดทักษะและแนวคิดที่ถูกต้องให้กับเด็กอย่างเหมาะสม ซึ่งนั่นทำให้การพัฒนาทักษะของเด็กต้องขาดตอนไปอย่างน่าเสียดาย

ดร. วรนาท รักสกุลไทย นักการศึกษาปฐมวัย ผู้อำนวยการโรงเรียนเกษมพิทยา (ฝ่ายอนุบาล) กล่าวว่า "เราคงทราบดีกันอยู่แล้วว่าวิทยาศาสตร์มีความสำคัญเพียงใด แต่สำหรับเด็กอนุบาล แนวทางการสอนต่างหากที่จะทำให้เด็กสนใจ สิ่งสำคัญที่สุดคือครูต้องแม่นยำในพัฒนาการของเด็ก เพื่อที่จะสามารถจัดการเรียนรู้ได้สอดคล้องกับความสามารถของเด็ก รวมถึงต้องอย่าลืมเรื่องจินตนาการที่มีอยู่สูงในเด็กวัยนี้"

ทั้งนี้ การส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในด้านวิทยาศาสตร์นั้น อาจไม่จำเป็นต้องแยกออกมาสอนเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ และอาจไม่ต้องกล่าวคำว่าวิทยาศาสตร์เมื่อให้เด็กทำกิจกรรมเลยด้วยซ้ำ เพียงแต่ครูปฐมวัยควรจะตระหนักรู้ว่ากิจกรรมที่จัดให้กับเด็กในแต่ละช่วงเวลานั้น เป็นการส่งเสริมทักษะและแนวคิดทางวิทยาศาสตร์อะไรให้กับเด็กๆ และควรจะจัดกิจกรรมอย่างไรเพื่อจะสามารถตอบสนองและต่อยอดธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างเป็นระบบ

ดร.เทพกัญญา พรหมขัติแก้ว นักวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์ประถมศึกษา สสวท. กล่าวถึงแนวทางในการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กอนุบาลว่า "แนวทางของ สสวท.คือต้องการให้คุณครูบูรณาการวิทยาศาสตร์เข้าไปในการเรียนการสอนปกติของเด็ก ๆ ซึ่งครูและนักการศึกษาปฐมวัยอาจจะมีคำถามว่า จะต้องแยกวิทยาศาสตร์ออกมาเป็นอีกวิชาหนึ่งไหม จริง ๆ คือไม่ต้อง เพราะการเรียนรู้ในระดับปฐมวัยจะเน้นการเรียนรู้แบบองค์รวม ไม่ต้องแยกเป็นวิชา เพราะวิทยาศาสตร์คือกระบวนการการเรียนรู้ อยากให้คุณครูมองว่า มันคือการเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัวของเด็กๆ"

"สำหรับปัญหาที่พบในขณะนี้ก็คือ บางครั้งเด็กมีคำถาม แล้วครูตอบไม่ได้ เพราะเราก็ต้องเข้าใจครูปฐมวัยด้วยว่า อาจไม่มีพื้นฐานในสายวิทย์มากนัก ดังนั้นเมื่อครูเกิดตอบคำถามเด็กไม่ได้ก็จะเกิดหลายกรณีตามมา เช่น ครูบอกเด็กว่า เธออย่าถามเลย เด็กก็ถูกปิดกั้นการเรียนรู้ไปเสียอีก กับอีกแบบคือ ครูตอบคำถามเด็ก ซึ่งกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ควรจะเป็นการเรียนรู้ไปด้วยกัน ให้เด็กหาคำตอบด้วยตัวเอง ไม่ใช่รอให้ครูหามาป้อน และถ้าครูตอบผิด เด็กก็อาจจำไปผิด ๆ ได้"

นอกจากนี้ ดร.เทพกัญญา ยังได้ให้แนวทางในการ "สืบเสาะความรู้ทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก" อันประกอบแนวทางปฏิบัติ 5 ข้อดังนี้

1. ตั้งคำถามที่เด็กสามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง เช่น คำถามเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว หรือโลกของเรา

2. ออกไปหาคำตอบด้วยกัน เนื่องจากคำถามในระดับเด็กอนุบาลมักจะเปิดกว้าง ดังนั้นการค้นหาคำตอบอาจมีครูคอยช่วยจัดประสบการณ์ให้เด็กตามที่เขาตั้งขึ้น

3. เมื่อขั้นสองสำเร็จ เด็กจะเอาสิ่งที่เขาค้นพบมาไปตอบคำถามของเขาเอง ในขั้นนี้คุณครูอาจช่วยเสริมในแง่ของความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือในด้านของเหตุและผล

4. นำเสนอสิ่งที่เขาสำรวจตรวจสอบมาแล้วให้กับเพื่อน ๆ

5. การนำสิ่งที่เด็กค้นพบคำตอบนั้นไปเชื่อมโยงกับคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์

สำหรับข้อ 5 นั้น ดร.เทพกัญญากล่าวว่า ในระดับเด็กอนุบาลอาจยังไม่สามารถก้าวไปถึงจุดนั้นได้ อาจต้องเป็นเด็กชั้นประถมศึกษาขึ้นไป แต่คุณครูก็ไม่ควรละเลย หากมีเด็กอนุบาลบางคนเข้าใจ คุณครูก็อาจช่วยให้เขาสามารถอธิบายได้แบบวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าไม่ถึงก็ไม่จำเป็นต้องเคี่ยวเข็ญเด็ก ๆ แต่อย่างใด

ไม่เพียงแต่คุณครูและโรงเรียนที่จะเป็นผู้ส่งเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเด็ก ๆ แต่พ่อและแม่เองนั้นก็มีบทบาทมากเช่นกัน แนวทางดี ๆ ข้างต้น อาจเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้เด็ก ๆ และครอบครัวในยุคต่อไปเข้าใจ และรักใน "วิทยาศาสตร์" ได้มากขึ้นก็เป็นได้ค่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เลี้ยงลูกอยู่บ้าน vs ทำงานออฟฟิศ" ทางชีวิตที่แม่ต้องเลือก





ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป สำหรับคุณแม่คนใหม่ในการตัดสินใจเลือกเส้นทางการดำเนินชีวิตหลังคลอดบุตร หลายคนตัดสินใจอยู่นาน ระหว่างการลาออกจากงานที่ทำอยู่เพื่อมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว มีเวลาดูแลลูกอย่างเต็มที่ กับการกลับไปเป็นสาวออฟฟิศตามเดิมเมื่อครบกำหนดลาคลอด

ทางเลือกข้างต้นจึงเป็นสถานการณ์ที่คุณแม่มือใหม่แทบทุกคนต้องเผชิญ ซึ่งแต่ละคนก็มีปัจจัยให้พิจารณาแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้ครอบครัว สถานการณ์โดยรวมของครอบครัวในขณะนั้น มีพี่เลี้ยงดี ๆ รอเลี้ยงให้หรือไม่ หรือคุณแม่บางท่านก็อยากลาออกมาเลี้ยงลูกอยู่บ้านเอง แต่ติดปัญหาด้านการเงิน ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น เพื่อไม่ให้การตัดสินใจเลือกทางเดินของคุณแม่ต้องถูกกดดันมากเกินไป เรามีแนวทางในการช่วยให้การตัดสินใจง่ายขึ้นมาฝากกันค่ะ

วางแผนแต่เนิ่น ๆ

สำหรับครอบครัวที่อยากมีบุตร หากมีการวางแผนด้านการเงินเอาไว้ล่วงหน้าจะเป็นการดีมาก หรืออย่างน้อยในระหว่างตั้งครรภ์มีการเก็บเงินร่วมกันระหว่างคุณพ่อคุณแม่ก็ถือว่ายังไม่สายเกินไป เพราะแผนการเก็บเงินเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาเงินตึงมือหลังคลอดของครอบครัวได้มาก และช่วยลดแรงกดดันของคุณแม่ที่จะต้องตัดสินใจว่าจะกลับไปทำงานอีกครั้งหรือไม่ให้น้อยลงด้วย (การเตรียมการในข้อนี้ไว้อย่างดีจะช่วยลดความเครียดของคุณแม่หลังคลอดได้อีกมากนะคะ)

อย่างไรก็ดี หากไม่มีการวางแผนการเงินไว้ล่วงหน้า เมื่อทราบว่ามีการตั้งครรภ์ ก็มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเร่งเก็บเงินเตรียมเอาไว้ และประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด โดยอาจเก็บเงินเดือนของฝ่ายคุณแม่เอาไว้ และใช้แต่เงินเดือนของฝ่ายคุณพ่อ เพื่อที่ว่าหลังคลอด อย่างน้อยก็ยังเหลือเงินเดือนสะสมของคุณแม่เอาไว้ถึง 7 - 8 เดือน นอกจากนั้น การประหยัดในรูปแบบต่าง ๆ ก็ช่วยให้เงินเหลือเก็บได้มากขึ้นด้วย เช่น ซื้อของใช้เฉพาะสิ่งที่จำเป็น ซื้อทีเป็นแพ็กใหญ่ ๆ จะทำให้ราคาต่อหน่วยถูกลง เป็นต้น

เมื่อปัญหาด้านการเงินเป็นปัจจัยที่สำคัญน้อยลง ครอบครัวก็มีโอกาสเลือกทางเดินชีวิตได้ตามใจต้องการมากขึ้นค่ะ

มีแผนที่ยืดหยุ่นได้สูง

แผนที่มีความยืดหยุ่นสูงนั้น จะต้องเกิดจากการเตรียมความพร้อมแต่เนิ่น ๆ เพราะเมื่อคุณมีลูก บางครั้งบทความ Howto ต่าง ๆ ก็อาจไม่ช่วยคุณได้มากนัก เพราะจะมีสิ่งต่าง ๆ เข้ามาท้าทายคุณได้ทุกวันไม่มีหยุด หากคุณไม่มีการเตรียมความพร้อมให้ครอบครัวคุณมีความยืดหยุ่น ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ก็อาจทำให้คุณไม่มีทางเลือกในการตัดสินใจที่ดี และหลากหลายเพียงพอ และสุดท้ายก็อาจทำให้คุณไม่สามารถเลือกในสิ่งที่ใจตัวเองต้องการอย่างแท้จริงได้

วางแผนร่วมกัน

ข้อหนึ่งที่คุณแม่พึงตระหนักก่อนตัดสินใจก็คือ คุณไม่ได้เลี้ยงลูกอยู่คนเดียว คุณยังมีสามีเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญค่ะ ดังนั้น ควรจะให้เขามีส่วนในการวางแผนอนาคตของครอบครัวด้วย เพราะมีตัวอย่างคุณแม่หลายท่านที่ครบกำหนดลาคลอดแล้ว ก็ได้คุณพ่อคนดีรับหน้าที่ดูแลลูกต่อให้ (ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้งานของคุณพ่อบางท่านมีความยืดหยุ่นสูงกว่าเดิม ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน ทำงานจากบ้านผ่านอินเทอร์เน็ตก็ได้) เท่านี้ ครอบครัวก็จะยังคงเป็นครอบครัว และเดินหน้าไปได้อย่างมีความสุข เพราะฉะนั้น อย่าลืมปรึกษาคนข้างกายนะคะ

อย่ารู้สึกผิด

สำหรับคุณแม่ที่รักในงานที่ทำอยู่ และต้องการจะกลับไปเพราะยังสนุกกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อนร่วมงาน หรือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เคยได้รับ สิ่งหนึ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงให้ห่างก็คือ การรู้สึกผิดที่ไม่สามารถดูแลลูกได้ด้วยตนเอง ซึ่งในข้อนี้ การมองหาพี่เลี้ยงดี ๆ หรือเนิร์สเซอรี่ที่มีคุณภาพอาจช่วยทดแทนความรู้สึกนี้ได้ (บางทีการฝากหลานให้คุณย่าคุณยายเลี้ยงก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน เมื่อท่านได้ใกล้ชิดหลาน ๆ ก็อาจช่วยให้หัวใจของผู้สูงอายุสดใสมีความสุขได้ค่ะ แต่ต้องพิจารณาจากสุขภาพของท่านด้วยนะคะ)

คุณแม่ที่ตัดสินใจลาออกจากงานมาดูแลลูกอยู่บ้านก็เช่นกัน บางครั้งอาจเกิดความรู้สึกผิดหากครอบครัวมีปัญหาด้านการเงิน ในส่วนนี้แก้ได้โดย คุณแม่อาจช่วยคุณพ่อประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพราะเมื่อไม่ต้องไปทำงาน ค่าใช้จ่ายในการแต่งเนื้อแต่งตัว ค่าเดินทาง ค่าอาหารกลางวันก็อาจจะลดลงไปตามส่วน นอกจากนี้ ก็อาจมองหางานพาร์ทไทม์เบา ๆ ทำได้ เช่น ทำธุรกิจออนไลน์ หรือเป็นอาสาสมัครช่วยทำกิจกรรมสังคม เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์เช่นนี้ การตัดสินใจเลือกทางที่ต้องการอาจไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด แต่สิ่งที่เราสามารถเตรียมเอาไว้ล่วงหน้าได้ก็คือ การมีทางออกหลาย ๆ ทางไว้ในกรณีที่ต้องตัดสินใจ เพราะในที่สุดแล้ว คนที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจครั้งนี้ก็คือตัวคุณแม่เอง ไม่ใช่เพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่เจ้านาย ดังนั้น ควรเคารพการตัดสินใจของตนเอง เพราะคุณเป็นคนที่เข้าใจทุกอย่างดีที่สุดค่ะ

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก more4kids.info

วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ไอเดียสร้าง "บ้านสองภาษา" บทพิสูจน์ความทุ่มเทพ่อแม่



เป็นความพยายามที่ต้องอาศัยความอดทนอย่างสูงทีเดียว สำหรับครอบครัว ๆ หนึ่งในการสร้างสภาพแวดล้อม "สองภาษา" ให้กับลูกซึ่งถือเป็นแก้วตาดวงใจของครอบครัว ในบ้านหลังนี้ คุณพ่อ "พงษ์ระพี เตชพาหพงษ์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท มายด์ คอนเน็กชันส์ จำกัด ซึ่งเปรียบเหมือนเสาหลักได้อุทิศตนเพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านภาษาอังกฤษให้กับลูกตั้งแต่แรกคลอด โดยการสื่อสารกับลูกสาวด้วยภาษาอังกฤษมาตลอดระยะเวลา 3 ปี ขณะที่คุณแม่ “เยาวลักษณ์ ลาภเลิศสุข” จะเป็นผู้สื่อสารกับลูกด้วยภาษาไทย ถึงวันนี้ น้อง "เพ่ยเพ่ย" – ด.ญ. ปลายฟ้า เตชพาหพงษ์ จึงเป็นเด็กหญิงอีกคนหนึ่งที่สามารถสื่อสารได้มากกว่า 1 ภาษาจากความร่วมแรงร่วมใจกันของคุณพ่อและคุณแม่ มุมมองของครอบครัวนี้ต่อการพัฒนาด้านภาษาอังกฤษจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

คุณพ่อพงษ์ระพีเล่าว่า "ย้อนไปประมาณ 3 ปีที่แล้ว ผมมีน้องเพ่ยเพ่ย ลูกสาวคนแรก สิ่งที่ผมมองต่อไปเพื่ออนาคตของลูกก็คือ โลกในยุคที่ลูกโตขึ้นมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า โลกเราจะเข้าสู่สังคมแบบโกลบอล ในอีก 15 - 20 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจะย้ายมาอยู่เอเชีย คำถามก็คือ ศักยภาพของเด็กไทยจะได้รับการพัฒนาไปถึงจุดนั้นไหม เด็กของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย เขามีความสามารถในการพูดได้มากกว่า 2 ภาษาอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ฮ่องกงก็เช่นกัน ส่วนประเทศเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เขาก็มีแต้มต่อในตัวเอง แม้พูดภาษาที่สองไม่ได้ก็ยังไม่เป็นไร แต่ประเทศไทยจะอยู่ตรงไหน เพราะเราเองยังมีปัญหากับภาษาที่สองอยู่เลย"

"ผมเองก็เป็นผลผลิตของระบบการศึกษาที่ผ่านมา เจอปัญหาด้านภาษาอังกฤษแบบที่คนไทยหลาย ๆ คนเจอ ถามว่าคนไทยโง่หรือเปล่า ไม่ใช่ แต่ผมมองว่าในช่วงจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ เราเรียนรู้ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของภาษา ผมไม่อยากให้ลูกมาเจอสภาพคล้าย ๆ กัน อยากให้ภาษาอังกฤษเป็นความสามารถพื้นฐานของเขา ลูกจะได้มีเวลาไปศึกษาหาความรู้ในเรื่องอื่น ๆ นั่นจึงเป็นที่มาของการปรับบ้านให้เป็นบ้านสองภาษาครับ"

การเริ่มต้น "บ้านสองภาษา" ของคุณพ่อท่านนี้ จึงเริ่มจากการศึกษาหาข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งคุณพงษ์ระพีเล่าว่า ในต่างประเทศมีการทำบ้านสองภาษาเช่นกัน และมีการรวมตัวกันเป็นสมาคมด้วย

"ในต่างประเทศมีคนที่สนใจคล้าย ๆ กันกับเรา ซึ่งพ่อแม่เขาเริ่มจากสิ่งง่าย ๆ ใกล้ตัวก่อน ไม่มีการเขียน ไม่มีการจด ไม่มีไวยากรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นการสอนโดยใช้บริบทของสภาพแวดล้อม สอนเหมือนสอนภาษาแม่ โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวก่อน เช่น หมอน ตะกร้า ของเล่น เราใช้การพูดซ้ำ ๆ นำคำศัพท์มาบวกกับคำกริยา เป็นประโยคคำสั่งง่าย ๆ ให้ลูกฟังซ้ำ ๆ เมื่อลูกมีความเข้าใจมากขึ้นในสิ่งที่เราพูด ก็เริ่มมีประโยคคำถามตามมาให้ลูกตอบ yes no เป็นขั้น ๆ ไปครับ"




จากแนวทางดังกล่าว คุณพงษ์ระพีเลือกที่จะเป็นคนสื่อสารกับลูกเป็นภาษาอังกฤษมาตลอดระยะเวลา 3 ปี และให้ภรรยาเป็นผู้สื่อสารกับลูกด้วยภาษาไทย ซึ่งการใช้ภาษาอังกฤษในปัจจุบันไม่เป็นปัญหา เนื่องจากมีสื่อการสอนต่าง ๆ วางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก พ่อแม่สามารถนั่งฝึกภาษากับลูกไปด้วยกันได้ แต่สิ่งที่ผู้ปกครองพึงระวังก็คือ การตรวจสอบสิ่งที่ต้องการสอนก่อนจะพูดออกไป เพราะเด็กจะจดจำได้อย่างแม่นยำ

“ภาษาที่ให้ลูกเรียนคือภาษาพูด ไม่ใช่ภาษาเขียน ดังนั้นการเรียนรู้จึงเริ่มจากการพูดและฟังก่อน พูดในสิ่งที่เขาพูด ไม่ใช่สิ่งที่ควรพูด พ่อแม่ที่จะพูดต้องทราบว่าพูดอย่างไรให้ถูกต้องตามหลัก ซึ่งอาจจะไปศึกษาไวยากรณ์มาก่อนให้เป็นประโยคที่ถูกต้อง เวลาสอนลูกไม่ต้องอธิบาย พูดอย่างเดียว เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง เด็กจะสามารถนำออกมาใช้ได้เองโดยอัตโนมัติ เช่น ประโยคคำถามว่า คุณไปไหนมา เด็กจะทราบว่าต้องใช้ where have you been? ไม่ใช่ where do you go? เพราะความรู้สึกของเขาจะบอกทันทีว่าไม่ใช่ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เด็กเข้าใจได้โดยที่ไม่ต้องเรียนรู้เรื่อง Tense มาก่อน เป็นสิ่งที่เรียกว่าประสบการณ์ร่วม"

นอกจากนี้ คุณพงษ์ระพียังเพิ่มการสอนภาษาจีนให้กับลูกด้วย โดยเริ่มสอนเมื่อเขาโตขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ซึ่งในเด็กโต และภาษาแม่แข็งแรงแล้ว อาจเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องสร้างเงื่อนไข หรือแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ เพิ่มเติม

“ผมไปเมืองจีนแล้วโทรศัพท์คุยกับลูก ก็ถามลูกว่า อยากมาประเทศจีนบ้างไหม ถ้าอยากมา ก็ต้องพูดจีนให้ได้ เพราะคนที่นี่เขาพูดกันแต่ภาษาจีน หลังจากนั้น 4 เดือน ก็พบว่า ลูกเริ่มสนใจพูดภาษาจีนมากขึ้น บางครั้งเขาพูดกับผมก็อาจจะพูดอังกฤษกับจีนปนกัน แต่ผมคิดว่าไม่เป็นปัญหา เพราะวันหนึ่งถ้าเขามีคลังศัพท์มากพอ เขาจะแยกสองภาษานี้ออกจากกันได้เองครับ"

"ในส่วนนี้ ผู้ใหญ่จะผ่านการลองผิดลองถูกมาเยอะ ดังนั้น เราจะทราบว่าสิ่งไหนไม่ควรไปเสียเวลากับมัน หรือบางเรื่องที่เราทราบว่ามันดีกับเด็ก เราก็ควรแนะนำ และส่งเสริมเขา พ่อแม่ควรเปิดทางเลือกต่าง ๆ ให้กับลูกให้มากที่สุดดีกว่าปล่อยลูกไปตามยถากรรม เพราะเด็กเองก็ยังไม่ทราบว่าเขาอยากเป็นอะไร ดังนั้น หากเปิดโอกาสให้เขาได้สัมผัสประสบการณ์หลาย ๆ ด้านจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการของเขาเมื่อเขาเติบโตขึ้น"

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการฝึกภาษาที่สองให้ลูก ๆ เพิ่มเติม คุณพงษ์ระพียังได้เปิดเว็บไซต์เพื่อสร้างเป็นชุมชนและแหล่งความรู้ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากให้บุตรหลานมีความสามารถในการพูดภาษาที่สองได้ด้วยที่ www.2pasa.com
...

วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552



ไอเดียตุนเสบียง "ขนม-ของว่าง" หลังเลิกเรียน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 5 กุมภาพันธ์ 2552 13:23 น.



ขึ้นชื่อว่า "ของว่าง - ขนม" คงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่วัยเด็กต้องการ นอกจากจะช่วยเสริมความสุขในชีวิตประจำวันแล้ว ขนม หรือของว่างบางชนิดยังมีคุณค่าทางอาหาร และจำเป็นต่อร่างกายด้วย โดยสัดส่วนที่พอเหมาะสำหรับพลังงานที่เด็กควรได้รับจากการรับประทานอาหารว่างควรอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณอาหารทั้งหมดที่รับประทานในแต่ละวัน (อ้างอิงจากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล)

ทั้งนี้ อาหารว่างสำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 2 - 15 ปีควรเป็นอาหารที่บริโภคระหว่างอาหารมื้อหลัก และไม่ควรเกินวันละ 2 มื้อ แต่ละมื้อควรมีพลังงานเฉลี่ย 100 - 150 กิโลแคลอรี่ ก็เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว ซึ่งอาหารว่างที่ดีไม่ควรจะมีรสหวาน มัน หรือเค็มจัดจนเกินไป และควรมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย เช่น โปรตีน เหล็ก แคลเซียม วิตามิน หรือใยอาหาร

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจการรับประทานอาหารว่างของเด็กในปัจจุบันพบว่า เด็กเล็กอายุระหว่าง 3 - 5 ปี ได้รับพลังงานจากอาหารว่างมากเกินไป โดยมาจากการชื่นชอบรับประทานขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม ซึ่งมีส่วนผสมของแป้ง ไขมัน และน้ำตาลในปริมาณสูง เดี๋ยวนี้มองไปทางไหนจึงมักพบแต่เด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพ มีโรคอ้วนถามหากันมากขึ้น

การตุนเสบียง "ของว่าง" ในตู้เย็นไว้รอท่าเด็ก ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลย โดยมีคำแนะนำในการเลือกซื้อดังนี้

1. อาหารว่างที่มีประโยชน์และควรมีติดไว้ประจำบ้านอาจเป็น นมจืด ผลไม้อบแห้ง (ชนิดไม่หวาน) ขนมปังกรอบชนิดโฮลวีท หรือ ผลไม้สด (กล้วย ส้ม มะละกอ ฝรั่ง ชมพู่) ซึ่งการจัดเตรียมอาหารว่างสำหรับเด็กอาจตัดผลไม้เป็นชิ้นเล็ก ๆ พอคำ และควรหลีกเลี่ยงผลไม้สดที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน ลำใย ขนุน

2. เครื่องดื่ม อาจเป็นนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม หรือน้ำผลไม้ ซึ่งควรพิจารณาเรื่องของน้ำตาล หากมีน้ำตาลสูงจนเกินไปก็ไม่ควรให้เด็กบริโภค หรือถ้าเป็นไปได้ คุณพ่อคุณแม่มีเวลาคั้นน้ำผลไม้ให้ลูกรับประทานเองได้ก็จะดี และมีประโยชน์มากกว่า



3. พืชหัว และธัญพืช เช่น เมล็ดทานตะวันอบ เม็ดฟักทองอบ เม็ดแตงโตอบ ถั่วต้ม ข้าวโพดต้ม มันต้ม เหล่านี้ก็เป็นอาหารที่มีประโยชน์สำหรับเด็กเช่นกัน แต่ไม่ควรเลือกธัญพืช ฯลฯ ที่ผ่านการทอด การอบเนย เพราะมีแคลอรี่สูงเกินความจำเป็น เช่น ข้าวโพดอบเนย ถั่วทอด

4. ขนมไทย ๆ เช่น ถั่วแปบ ขนมตาล ขนมกล้วย ถั่วเขียวต้ม ฯลฯ ขนมเหล่านี้หลายชนิดมีประโยชน์เพราะมีการนำธัญพืชมาเป็นส่วนประกอบ แต่ไม่ควรเลือกบริโภคขนมไทยประเภทที่มีกะทิ มะพร้าว หรือน้ำตาลเยอะ เพราะอาจทำให้เด็กอ้วนได้

ของว่างที่ไม่แนะนำสำหรับเด็กโดยเด็ดขาด

1. น้ำอัดลม
2. เบเกอรี่ที่มีไขมันสูง และรสหวานจัด เช่น คุกกี้ เค้ก
3. ขนมกรุบกรอบ ประเภท มันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบ
4. ลูกกวาด ลูกอม ช็อคโกแลต
5. ไอศกรีม
6. ของว่างประเภททอด หรือปิ้งย่างจนไหม้

การรับประทานขนม - ของว่าง ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาดี ๆ ที่เด็กจะได้มีความสุข เพลิดเพลิน ในขณะเดียวกัน หากผู้ปกครองมีความใส่ใจกับขนมของลูก ๆ คัดสรรแต่ของที่มีคุณค่า มีสารอาหารที่จำเป็น ในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะทำให้เด็กไทยไม่ต้องเผชิญกับปัญหาด้านโภชนาการและโรคอ้วนได้ในอนาคตค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติค่ะ ^^

วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ลูก“เถียง”พ่อแม่...แก้อย่างไร


พ่อแม่จะรู้สึกอย่างไรหากวันหนึ่งลูกที่เราคอยเลี้ยงดูมาขึ้นเสียงเถียงเราโดยที่ไม่ฟังเสียงใคร?!!

ปัญหาหนึ่งเมื่อลูกเริ่มที่จะมีความคิดเป็นของตัวเอง เริ่มโตพอที่จะรู้จักตัดสินใจในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พ่อแม่หลายคนจึงอาจเจอปัญหาที่คล้ายๆกันในเรื่องของพฤติกรรมของลูก โดยเฉพาะคำพูดของลูกที่อาจดูก้าวร้าว และดูเหมือนว่า ความเข้าใจระหว่างพ่อแม่และลูกจะหายากกว่าที่ผ่านมา แต่ทว่าคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ถ้าในขณะที่ลูกกำลังเสียงดังใส่พ่อแม่นั้น พ่อแม่ได้โต้ตอบกลับมาในน้ำเสียงที่ดังไม่แพ้กัน

ในเรื่องนี้ พญ.สุธิรา ริ้วเหลือง จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์กล่าวว่า "เมื่อลูกเริ่มโตพอที่จะมีความคิดเป็นของตัวเอง อาจมีบางครั้งที่เขาเริ่มไม่ยอมทำตามที่พ่อแม่บอก และมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้องเสมอไป ดังนั้นความเข้าใจระหว่างพ่อแม่และลูกอาจถูกบั่นทอนลงไปได้ ซึ่งไม่มีครอบครัวไหนอยากให้ลูกโตมาเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง ยึดตัวเองเป็นหลักโดยที่ไม่ฟังเสียงใคร แต่การที่ลูกเริ่มที่จะเถียงพ่อแม่นั้นได้เป็นสัญญาณที่บอกว่าเขามีความคิด มีเหตุผล ดังนั้นพ่อแม่ควรจะคำนึงไว้ว่า ลูกเริ่มมีความคิดที่เป็นของตัวเองแล้ว ลูกไม่ใช่เด็กๆที่เราจะบอกอะไรแล้วเขาจะทำตามทุกอย่างเหมือนเมื่อก่อน เมื่อเด็กมีเหตุผลร่วมกับอารมณ์”



“สิ่งที่พ่อแม่ควรทำอย่างแรกคือต้องเข้าใจเขาก่อนว่า สิ่งที่ลูกเป็นนั้นคือพัฒนาการของเขาที่เริ่มมองตัวเองเป็นหลัก เด็กวัยนี้จะคิดว่าเขาถูกต้องเสมอ เราต้องรับฟังเขาก่อน โดยที่ให้เขาชี้แจงว่าทำไมถึงคิดอย่างนั้น พ่อแม่และลูกต้องแชร์กันเช่น หากลูกเถียงว่า ของเล่นชิ้นนี้เป็นของเขา เขาซื้อมาเอง เราต้องถามว่า เอาเงินทีไหนไปซื้อ เราต้องถามถึงสาเหตุและให้เขาพูดอย่างมีเหตุผล หรือถ้าหากเขาไม่ทำการบ้าน แต่บอกว่าทำแล้ว เราต้องบอกลูกว่าอย่าเถียงพ่อแม่ เพราะมันไม่ดี ถ้าทำการบ้านแล้วให้เอามาให้พ่อแม่ดูด้วย เราต้องเชื่อก่อนแล้วหลักฐานค่อยตามมา เราไม่ต้องต่อว่า ถ้าทำการบ้านไม่เสร็จ ก็บอกว่าไม่เสร็จ หาทางออกให้เขาใจเย็น ในขณะที่พ่อแม่ก็ต้องอดทนและเข้าใจพฤติกรรมของลูกด้วย ซึ่งหากผู้ใหญ่เริ่มต้นด้วยความเข้าใจ รับฟัง มีเหตุผล เด็กก็จะเถียงน้อยลง แต่ถ้าเราบังคับ ใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกไม่ควร เด็กก็จะไม่ยอม ถ้าพ่อแม่เสียงดัง เมื่อลูกโตขึ้น มีอิสระ เขาก็จะทำกับพ่อแม่เช่นนั้นเหมือนกัน” พญ.สุธิราแนะ

อย่างไรก็ดี เมื่อการถกเถียงมักมีอารมณ์เข้ามาด้วยเสมอ ถ้าลูกเสียงดังพ่อแม่ต้องมีสัญญาณเตือน ไม่ว่าจะเป็นคำพูด น้ำเสียง เพราะพ่อแม่ต้องจัดการอารมณ์ของลูกให้ได้ก่อน มิเช่นนั้นเขาก็จะไม่รับฟังอะไรทั้งสิ้น แต่หากในทางธรรมแล้ว ปัญหาการถกเถียงของลูกนั้นแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุตได้ให้คำแนะนำว่า

“เวลาที่เราถกเถียงกันคุณแม่ขุ่นมัวหรือเปล่าคะ ถ้าคุณแม่ไม่ขุ่นมัวการถกเถียงนั้นก็เป็นโอกาสให้เด็ก ๆ กับเราได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน แต่ถ้าเผื่อว่าคุณแม่ขุ่นมัวคราวนี้มันเป็นการขัดแย้งแล้ว ลูกจะเอาอย่าง แม่จะเอาอย่าง เวลาที่เราขุ่นมัวเพราะกิเลสเข้าครอบงำ การขัดแย้งจะไม่มีใครได้เรียนรู้เลย ขอให้เรารักษาใจในฐานะที่เป็นแม่ ที่จะสอนให้ลูกรู้โดยการปฏิบัติของเราว่าการแสดงความคิดเห็นด้วยการพูดนั้นทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำได้ แต่ขอให้เคารพกันด้วยการทำหน้าที่ที่จะรักษาใจของเราในขณะแสดงความคิดเห็นนั้นอย่าให้มีกิเลสเข้าครอบงำ การฝึกให้มีโอกาสพูดคุยกันนั้นเด็ก ๆ จะกล้าหาญมากขึ้นและถ้าเผื่อจะให้จิตสำนึกที่เขาจะรู้ว่าเขาควรจะพูดอะไรในเวลาไหนและการใช้โอกาสแห่งการพูดนั้นจะทำให้คนไม่ทุกข์ยากได้อย่างไร คราวนี้ลูกของเราจะเก่งขึ้นจากโอกาสที่คุณแม่ให้ ขอให้คุณแม่รักษาใจของคุณแม่อย่าให้มีกิเลสเข้าครอบงำในขณะที่เรากำลังแสดงความคิดเห็นกับลูกเอาไว้ นั่นเป็นโอกาสที่ดีที่ลูกจะได้เรียนรู้ว่าความสงบเย็นของจิตนั้นการถกเถียงจะเป็นประโยชน์ไม่ใช่การขัดแย้งเพราะมีกิเลสเข้าครอบงำ ขอให้มีความสุขกับการที่ได้แสดงความคิดเห็น”

สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนแนวทางปฏิบัติที่พ่อแม่ควรตระหนักก่อนที่ความสัมพันธ์และความเข้าใจระหว่างพ่อแม่และลูกจะถูกบั่นทอนทุกวันๆเพียงเพราะคำพูดที่ไม่เข้าใจกัน ดังนั้นหากเราหันหน้ามาคุยกันอยู่บนเหตุผลก็คงเป็นเรื่องที่ดีสำหรับทุกคน ในขณะที่ลูกๆเองก็ไม่ควรลืมว่า การที่ลูกขึ้นเสียงกับพ่อแม่ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องอะไรนั้น หากเป็นการขึ้นเสียงอย่างไร้เหตุผล โดยที่ไม่สนว่าคนตรงหน้าคือ พระในบ้านนั้น นับเป็นการสร้างบาปไปโดยไม่รู้ตัว

วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2552

เทคนิคดูแลสมองช่วยให้ลูกเรียนดี


เทคนิคดูแลสมองช่วยให้ลูกเรียนดี

เด็กแรกเกิดมีเซลล์สมองอยู่ร้อยล้านล้านเซลล์ แต่เซลล์เหล่านี้ยังพัฒนาไม่เสร็จสมบูรณ์หลังจากที่เด็กคลอดเซลล์สมองจะเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างทางเดินเส้นประสาทและการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์จนกลายเป็นเครือข่ายระบบประสาท





สมองเจริญเติบโตได้เองโดยอัตโนมัติ สมองของเด็กจะตัดสินว่า ต้องการเก็บข้อมูลอะไรและจะมีวิธีการจัดเก็บข้อมูลอย่างไร คุณไม่จำเป็นต้องสอนวิธีเรียกร้องความสนใจให้กับลูก เนื่องจากลูกสามารถเรียนรู้ได้เองอย่างรวดเร็วจากประสบการณ์

การสร้างทางเดินเส้นประสาทและการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ของสมองเด็กจะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่สมองต้องการจัดการข้อมูลที่รวบรวมผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ซึ่งมีผลทำให้ทางเดินเส้นประสาทที่มีอยู่เดิมเปลี่ยนแปลงไปหรือเจริญเติบโตใหม่เพื่อจัดเก็บข้อมูลความจำใหม่ในรูปแบบที่สมองเป็นผู้สั่งการเอง ดังนั้น ลูกจึงมีลักษณะวิธีการเรียนรู้ ความนึกคิด และการแสดงออกแตกต่างไปจากคุณ ญาติพี่น้องและเด็กคนอื่นในโรงเรียน



ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่มีส่วนในการช่วยพัฒนาสมองของลูกด้วยการจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม โดยมีปัจจัยที่ช่วยทำให้สมองเจริญเติบโตและพัฒนา ดังนี้


การฟังเพลง ออกท่าทาง เต้นรำ ร้องเพลง
การพูดและสนทนาโต้ตอบ ชมเชยและให้กำลังใจ หัดถามและตอบ ใช้ภาษาอย่างสร้างสรรค์
การสัมผัสและนวด เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า
จำกัดการดูโทรทัศน์และการเล่นวีดีโอเกม
สนับสนุนเด็ก ๆ ให้ทำงานอดิเรก
เข้านอนเป็นเวลา
กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในงานบ้าน
มีโภชนาการที่ดี และที่สำคัญ ดื่มน้ำเปล่าปริมาณมาก
ได้เล่น ได้หัวเราะ ได้สนุก
อ่านหนังสือหรือเล่านิทาน เพื่อกระตุ้นจินตนาการ
มีทางเลือกที่หลากหลาย
ร่วมกับเด็ก ๆ เล่นบทบาทสมมติ เช่น ให้ลูกเป็นหมอ คุณพ่อคุณแม่เป็นคนไข้ ฯลฯ

เหล่านี้คือเทคนิคง่าย ในการพัฒนาสมอง หากท่านต้องการรายละเอียดพร้อมกลยุทธ์เพื่อความสำเร็จในการเรียน และเทคนิคสร้างความจำเพื่อให้ลูกเรียนดีได้หาอ่านได้ในหนังสือ "มหัศจรรย์สมองของลูกรัก "


ข้อมูลจากหนังสือมหัศจรรย์สมองของลูกรัก
เขียนโดย Christine Ward แปลโดย ปาริฉัตร เศวตเศรณี สำนักพิมพ์แฮปปี้แฟมิลี่

ทำไมต้อง "เล่านิทาน-อ่านหนังสือ" ให้ลูกฟัง?

วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2552 เวลา 15:09:10 น. มติชนออนไลน์

ทำไมต้อง "เล่านิทาน-อ่านหนังสือ" ให้ลูกฟัง?

เป็นเรื่องที่พูดกันมานานโข เกี่ยวกับการเล่านิทาน และอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ส่วนใหญ่ก็พูดกันแต่ว่าจะทำให้เด็กฉลาด เปิดโลกกว้าง และต่างๆ นานา แต่ก็ยังไม่มีใครพูดให้ชัดเจนในเชิงหลักวิชาการว่า ฉไนเลย การเล่านิทาน และอ่านหนังสือให้ลูกฟังนั้น ทำให้เด็กฉลาดได้อย่างไร


นพ.อุดม เพชรสังหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมศักยภาพสมองของเด็กและเยาวชน และรองประธานฝ่ายพัฒนาวิชาการ บริษัท รักลูกกรุ๊ป จำกัด จะมาไขปริศนานี้ให้ฟัง

คุณหมออุดม อ้างผลงานการค้นคว้าของ อีริค อาร์ แคนเดล จิตแพทย์ชาวอเมริกัน เจ้าของโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2543 จากผลงานการค้นคว้าวิจัยเรื่องการเรียนรู้และความจำมนุษย์ ได้สรุปผลงานตัวเองออกมาด้วยข้อความสั้นๆ ว่า "การเรียนรู้คือสิ่งที่ทำให้ ′เรา′ เป็นดังเช่นทุกวันนี้"

ความหมายคือ ความรู้ ความจำ ที่เราได้เรียน ได้รู้ จากสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวนั่นแหละคือสิ่งที่หล่อหลอมให้เราเป็นคนดี เป็นคนเก่ง เป็นคนมีน้ำใจไมตรี หรือแม้แต่เป็นคนขี้โกง

นอกจากนี้ อีริค ได้อธิบายการเรียนรู้ของเราด้วยการทำงานของเซลล์สมอง ว่า ขณะที่คนเราอยู่ในท้องแม่ เซลล์สมองจะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วจนกระทั่งก่อรูปเป็นก้อนสมอง อย่างที่เราเคยเห็นในหนังสือ หรืองานนิทรรศการต่างๆ แต่เซลล์สมองจะยังไม่ทำงานทันที จนกว่ามันจะงอกเส้นใยออกมาต่อเชื่อมกันเป็นเครือข่ายเป็นวงจร เหมือนกับวงจรในเครื่องรับวิทยุ หรือคอมพิวเตอร์ที่เราใช้ตามบ้าน

ในช่วงแรก พันธุกรรมที่เราได้รับจากพ่อแม่จะเป็นตัวควบคุมให้เซลล์สมองเหล่านี้แตกเส้นใยออกมาต่อเชื่อมกันเป็นวงจรเป็นเครือข่าย เพื่อทำหน้าที่บางอย่างในการมีชีวิตอยู่ของเรา เช่น ทำหน้าที่ควบคุมการหายใจ ควบคุมกาเต้นของหัวใจ ควบคุมการนอนหลับและตื่น ควบคุมให้ร้องเมื่อหิว หยุดร้องเมื่อกินอื่ม พันธุกรรมจะทำหน้าที่สั่งให้เซลล์สมองพัฒนาตัวเองให้ทำงานในหน้าที่เบื้องต้นเหล่านี้ ซึ่งถ้าไม่ทำหน้าที่นี้แต่แรกเราก็จะไม่สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้

แต่นอกเหนือไปจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นการพัมนาภษา การสื่อสาร การพัมนานิสัยใจคอ การพัมนาความคิด เหตุผล อารมณ์ ความชอบ ความเกลียด ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในภายหลังโดยผ่านการเรียนรู้ทั้งสิ้น

โดยในการเล่านิทาน พ่อแม่จะต้องใช้น้ำเสียงในการเปล่งคำพูด ต้องมีการแสดงท่าทางประกอบ เพื่อให้เด็กเข้าใจถึงความหมายที่สื่อออกมา เซลล์สมองของเด็กก็จะบันทึกท่าทางที่แสดงออกถึงเจตนานั้น เช่น บ๊ายบาย นอนหลับ กินข้าว เป็นต้น ร่วมกับน้ำเสียงที่เปล่งออกมา เก็บเอาไว้ในส่วนของความจำ

เมื่อท่าทางและคำพูดได้ถูกนำมาแสดงให้เห็นบ่อยๆ เด็กก็จะจดจำท่าทาง เสียงที่พูด รวมถึงความหมายของคำนั้นเป็นอย่างดี คราวต่อไปพ่อแม่เพียงแค่แสดงท่าทาง หรือเปล่งเสียง โดยไม่ต้องทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน สมองส่วนความจำของเด็กก็จะระลึกได้ว่ามันคืออะไร และก็จะเข้าใจความหมายของคำนั้น หรือท่าทางนั้นๆ เอง

ส่วนเรื่องการอ่านหนังสือนั้น มีรายละเอียดไม่ต่างจากการเล่านิทานมากนัก เพียงแต่เรามีหนังสือภาพหรือนิทานมาประกอบด้วย อย่างเมื่อเวลาที่ พ่อแม่ชี้ไปที่ภาพ "ไก่" พร้อมกับพูดคำว่า "ไก่" ไปด้วยนั้น และชี้ไปที่คำว่า "ไก่" โดยอ่านให้เด็กฟังอย่างนี้บ่อยๆ สมองของเด็กก็จะบันทึกทั้งภาพ คำพูด และตัวอักษรไปพร้อมกัน ต่อไปเมื่อเด็กเห็นตัวไก่ ก็จะเรียกชื่อถูก เมื่อเจอตัวหนังสือก็จะอ่านออก

การเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟัง จึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาภาษาที่ดีมากๆ สำหรับเด็ก และภาษานี่แหละคือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนเราเรียนรู้ และถ่ายทอดความรู้ให้แก่กันและกันเรื่อยมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ทำให้เราฉลาดกว่าสัตว์ทั้งปวงในโลกนี้

ไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่า เด็กที่มีความสามารถทางภาษาสูงจะมีความจำดีกว่าเด็กที่มีความสามารถทางภาษาต่ำ เนื่องจากเด็กจะสามารถเรียบเรียงข้อมูลความรู้ให้เป็นภาษาได้ดีกว่า เพราะเก็บเป็นความจำและเป็นระบบมากกว่า

นอกจากนี้ เรื่องราวต่างๆ ที่เราเล่าหรืออ่านให้เด็กฟังนั้น บางเรื่องราวสะท้อนให้เห็นที่มาของเหตุแลผลที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กมองเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ เด็กจะซึมซับและเลียนแบบสิ่งเหล่านี้ไปเป็นแบบอย่างสำหรับชีวิต ของเขาเอง โดยเซลล์กระจกเงาที่อยู่ในมองจะทำหน้าที่อันนี้ ถ้าเราเลือกหนังสือดีๆ มาอ่านให้ลูกฟัง แน่นอนนิสัยดีๆ ย่อมเกิดแก่ลูกของเรา

ข้อสำคัญ การที่เราเล่านิทานอ่านหนังสือให้เด็กฟังมันเป็นการแสดงออกว่าเรารักเขา เด็กที่รู้สึกว่าพ่อแม่รักก็จะเป็นเด็กที่มีความมั่นใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาศักยภาพและตัวตนของเด็กในอนาคต

พอจะเข้าใจถึงความจำเป็น และความสำคัญของการเล่านิทาน และอ่านหนังสือให้ลูกฟังแล้ว หากต้องการอ่านฉบับเต็ม สามารถติดตามได้จาก นิตยสาร "รักลูก" ฉบับเดือนมกราคม ซึ่ง "คุณหมออุดม" จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาสมองลูก ให้ได้ติดตามเป็นประจำในคอลัมน์ "Brain Forum"

KingMath เทคนิคคณิตศาสตร์แนว Why จากแดนโสม

KingMath เทคนิคคณิตศาสตร์แนว Why จากแดนโสม

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 มกราคม 2552 22:21 น.


ในสวนสัตว์มียีราฟและนกยูงรวมกัน 25 ตัว นับขาได้ 68 ขา จงแสดงว่ามียีราฟกี่ตัว?

หากถามโจทย์คณิตศาสตร์นี้กับผู้ใหญ่ หลายคนคงเริ่มหยิบกระดาษดินสอ และแทนค่าสมการด้วยตัวแปร x และ y กันอย่างสนุกมือ แต่หากต้องการนำโจทย์นี้ไปถามกับเด็กประถม ผู้ใหญ่หลายคนอาจส่ายหน้าด้วยความคิดที่ว่า ยังเร็วเกินไปสำหรับการสอนเด็กในช่วงชั้นดังกล่าวให้รู้จักกับสมการ หรือตัวแปร x y z เพื่อไขคำตอบจากโจทย์ดังกล่าว

แต่เชื่อหรือไม่ว่า แม้ไม่รู้จักการแทนค่าตัวแปร x y z เด็กในประเทศที่มีอันดับคะแนนคณิตศาสตร์สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างเกาหลีใต้ก็สามารถแก้โจทย์ดังกล่าวได้ตั้งแต่ชั้นประถม 3 !!!!

ข้อความข้างต้นไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อ หรือเกิดจากการเรียนที่หนักกว่าปกติของเด็กเกาหลี แต่เกิดจากรูปแบบการเรียนการสอนที่ให้เด็กคิดผ่านการตั้งคำถามของคุณครู ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะหาคำตอบของโจทย์ข้อนี้ได้

ผลที่ได้จากการสอนในลักษณะดังกล่าว นอกจากจะทำให้พบวิธีพัฒนาเด็กในด้านคณิตศาสตร์แล้ว ยังเป็นการปลุกศักยภาพในตัวของเด็กที่มีไม่จำกัดออกมาได้เป็นอย่างดี และยังทำให้ค้นพบว่าวิธีในการตอบโจทย์ดังกล่าวยังมีอีกมากมายนับสิบวิธี มีแม้กระทั่งใช้การวาดภาพเพื่อหาคำตอบ ซึ่งเป็นวิธีคิดง่าย ๆ สไตล์เด็ก ป.3 นั่นเอง

เมื่อห้องเรียนเปิดโอกาสให้แสดงความคิดสร้างสรรค์ จึงไม่แปลกที่ความชอบและความถนัดด้านคณิตศาสตร์ของเด็กเกาหลีใต้จะถูกดึงออกมาใช้อย่างต่อเนื่อง และทำให้อันดับในการวัดผลทางด้านคณิตศาสตร์จากโครงการ PISA (Program for International Student Assessment) และโครงการศึกษานานาชาติ Trends in International Mathematics and Science Study หรือ TIMSSของเยาวชนเกาหลีใต้นั้นติดอันดับ 1 ของโลกมายาวนานนับ 10 ปี (สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 33 จากทั้งหมด 40 อันดับ)

MGR Lite และ Life & Family มีโอกาสพบกับ มร.ปาร์ค มยุง จุน (Park Myung Jun) อดีตคุณครูคณิตศาสตร์ผู้คิดค้นและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนคณิตศาสตร์แนวใหม่ โดย มร.ปาร์คเล่าถึงประสบการณ์ในการสอนอันยาวนานซึ่งเป็นที่มาของหลักสูตร KingMath ที่เขาคิดค้นขึ้นว่า

"เทคนิคการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ก็เหมือนกับการจับปลา ปลาแต่ละชนิดมีวิธีจับมากกว่าหนึ่งวิธี โจทย์คณิตศาสตร์เองก็เช่นกัน อาจกล่าวได้ว่าการกระตุ้นให้เด็กคิด และมีส่วนร่วมในชั้นเรียนเป็นสิ่งสำคัญมาก สำหรับการเรียนคณิตศาสตร์ เพราะเรามีโอกาสค้นพบเทคนิคใหม่ ๆ การคิดใหม่ ๆ ได้มากมาย เพียงแค่ครูให้คำชี้แนะกับเด็กว่าโจทย์รูปแบบนี้ควรจะต้องทำอย่างไร แล้วเด็กจะมีความคิดที่หลากหลายพรั่งหรูออกมา ซึ่งโดยปกติแล้ว หากเด็กทำได้ดี คุณครูควรมีรางวัลให้เด็กด้วย เพื่อช่วยจูงใจให้เด็กชอบคณิตศาสตร์มากยิ่งขึ้น"

จากโจทย์ -- ในสวนสัตว์มียีราฟและนกยูงรวมกัน 25 ตัว นับขาได้ 68 ขา จงแสดงว่ามียีราฟกี่ตัว? -- วิธีคิดของเด็กประถม 3 จึงอาจเป็นการวาดภาพนก 25 ตัว ซึ่งเด็กจะพบว่า ขาได้ถูกใช้ไปเพียง 50 ขาเท่านั้น (25 x 2) เหลือขาที่ยังไม่ได้ใช้อีกตั้ง 18 ขา (68 - 50) เด็กก็จะเอาขาที่เหลือนั้นไปใส่ให้กับนกทีละ 2 ขา เพื่อเปลี่ยนให้นกกลายเป็นยีราฟ เมื่อทำไปเรื่อย ๆ เด็กก็พบว่ามีสัตว์อยู่ 9 ตัวที่มีขา 4 ข้าง ส่วนอีก 16 ตัวนั้นมีขา 2 ข้าง นั่นคือที่มาของคำตอบว่า มีนกยูง 16 ตัว และมียีราฟ 9 ตัว ในสวนสัตว์แห่งนี้

After School แปลกที่แตกต่าง

จากคำบอกเล่าของ มร.ปาร์ค ยังทำให้ทราบอีกด้วยว่า ค่านิยมด้านการเรียนวิชาต่าง ๆ ของครอบครัวชาวเกาหลีใต้มีสิ่งที่แตกต่างจากประเทศไทยหลายประการ หนึ่งในนั้นก็คือ การมีโรงเรียนในรูปแบบ After School สำหรับเด็ก ๆ ซึ่งอาจแตกต่างไปจากโรงเรียนกวดวิชาสไตล์ไทย ๆ โดยโรงเรียนแนว After School นั้นเริ่มรับเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาล มีหลายวิชาให้เลือกเรียน ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาเกาหลี ภาษาอังกฤษ ฯลฯ แต่การสอนจะใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย และสอนเพื่อสร้างความเข้าใจในวิชานั้น ๆ แต่จะไม่เน้นเรื่องเทคนิคการทำคะแนนให้ได้มาก ๆ เพื่อการสอบเข้า เช่น การตัดตัวเลือกที่ไม่น่าจะเป็นคำตอบของโจทย์ แบบที่โรงเรียนกวดวิชาบางแห่งนิยมฝึกเด็ก

ทั้งนี้ ต้นกำเนิดของโรงเรียนในรูปแบบ After School มาจากปัญหาในระบบการเรียนการสอน ที่ทุกประเทศต่างพบเจอนั่นก็คือ การที่ให้เด็กเก่งและเด็กไม่เก่งเรียนคละกัน



"เด็กอ่อนต้องเรียนร่วมกับเด็กเก่ง ดังนั้น หากคุณครูสอนไว เด็กที่เข้าใจช้าก็จะตามไม่ทัน แต่ถ้าสอนช้า เด็กที่หัวไวก็จะเบื่อ เพราะเรียนไม่สนุก นอกจากนั้น ในการเรียนคณิตศาสตร์ (รวมถึงการเรียนในทุกวิชา) ยังขาดระบบประเมินผลเด็กว่ามีจุดอ่อนในด้านใด ครูและผู้ปกครองอาจทราบแค่เพียงว่าเด็กคนนี้อ่อนคณิตศาสตร์ แต่อ่อนตรงไหน อย่างไร ไม่มีใครทราบ ดังนั้นจึงไม่สามาถแก้ไขปัญหาให้เด็กได้อย่างถูกจุด"

โรงเรียนแนว After School จึงเข้ามารับปัญหานี้ไปแก้ไข โดยการจัดการสอนสำหรับเด็กตามกลุ่มความสามารถ เด็กเก่งได้เรียนเทคนิคแนวคิดใหม่ ๆ เด็กเรียนช้าได้มีเวลาปูพื้นฐานให้แน่น และมีการจัดทำระบบประเมินผลเด็ก หาจุดอ่อนของเด็กเพื่อทำการแก้ไข

"เพราะเด็ก ๆ มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ที่แตกต่างกัน จึงควรมีการประเมินความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ และจัดบทเรียนให้เหมาะสมกับระดับความรู้ เมื่อเริ่มต้นเรียนคณิตศาสตร์อาจเริ่มต้นจากการเรียนทฤษฎี การแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ฝึกความแม่นยำ และนำมาประเมินความสามารถเพื่อวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของเด็ก" มร.ปาร์คกล่าว

คณิตศาสตร์แนว Why?

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกเกี่ยวกับการเรียนคณิตศาสตร์ในปัจจุบันยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาหลักที่พบยังคงเป็นเรื่องของจำนวนเด็ก ๆ ที่ไม่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์มีเพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาศาสตร์ต่าง ๆ ของโลก โดยเฉพาะศาสตร์บางแขนงที่มีวิชาคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐาน เช่น วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การขาดบุคลากรจึงทำให้การต่อยอดความรู้ในสาขาต่าง ๆ ต้องน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่เมินคณิตศาสตร์นอกจากจะเกิดขึ้นจากการเรียนคละกันตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังเกิดจาก "ความไม่เข้าใจ" ถึงความจำเป็นในการเรียนคณิตศาสตร์ด้วย

"สิ่งที่ผิดพลาดของการเรียนคณิตศาสตร์ในอดีตอาจเป็นเรื่องของการใช้คำถาม What? ไปถามเด็ก ปฏิบัติกับเด็กเป็นเหมือนเครื่องมือหรืออุปกรณ์อย่างหนึ่งในการหาคำตอบออกมา แต่แนวทางในการสอนคณิตศาสตร์ของเราที่คิดค้นขึ้นและใช้สอนกับเด็ก ๆ ในเกาหลีใต้ก็คือ เราจะไม่ถามคำถาม What? กับเด็ก เพราะคำถาม What? เราสามารถหาคำตอบได้จากเครื่องคิดเลข คอมพิวเตอร์ เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้ถูกออกแบบมาให้ตอบคำถาม What?"

"สิ่งที่เราจะถามกับเด็กคือ Why? เห็นได้จากโจทย์คณิตศาสตร์ของเราคือ Why? เด็กมีโอกาสได้คิดถึงกระบวนการในการหาคำตอบ ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ได้คิด วิเคราะห์ หาเหตุผลมาตอบคำถาม ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่เครื่องจักรทำไม่ได้"

ซึ่งก่อนจะจากกัน มร.ปาร์คได้กล่าวถึงความสำเร็จของเกาหลีใต้ในอุตสาหกรรมโลกเอาไว้ประการหนึ่ง มีใจความว่า

"เกาหลีใต้มีบริษัทอย่างแอลจี ซัมซุง เพราะเรามีทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งรากฐานของการก่อตั้งบริษัทที่ผลิตสินค้าเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนแล้วต้องอาศัยความเข้าใจเรื่องคณิตศาสตร์ หากเยาวชนในประเทศมีพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์ดี มีความเข้าใจ ก็จะทำให้เกิดวิศวกรที่ดีตามมา และสามารถพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ได้"

พฤติกรรมเกเร" แท้จริงแล้วคือปัญหา

"พฤติกรรมเกเร" แท้จริงแล้วคือปัญหา

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 มกราคม 2552 14:17 น.



หากเอ่ยชื่อการ์ตูน "โดเรมอน" จากแดนปลาดิบ นอกจากโนบิตะ ชิซูกะ ซูเนโอะแล้ว คงมีหลายคนที่นึกถึงไจแอนท์ เด็กอ้วนจอมเกเรในเรื่องได้ติดตา กับพฤติกรรมขี้โมโห ชอบแกล้งคนอื่น โดยเฉพาะเพื่อนที่อ่อนแออย่างโนบิตะ

ในชีวิตจริง เด็กที่เป็นอย่างไจแอนท์ก็คงมีไม่น้อย ที่ใช้ "การกลั่นแกล้ง" คนอื่นมาเป็นเครื่องสร้างความสบายใจ รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะให้ตัวเอง แต่คงไม่ดีแน่ หากจะปล่อยให้เด็ก ๆ ติดนิสัยเหล่านั้นไปจนโต ซึ่งมีโอกาสมากที่เด็กคนนั้นจะแอบไปเพิ่มขีดความสามารถในการกลั่นแกล้งไปสู่การข่มขู่ ข่มเหงน้ำใจ หรือล่วงละเมิดคนอื่น ๆ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ระบบการทำงาน เพราะนั่นหมายถึงการเติบโตขึ้นในแบบที่เป็นปัญหาต่อสังคมโดยรวม

ปัญหาเด็กเกเรเกิดขึ้นได้ไม่ยาก เด็กบางคนอาจเกเรเพราะอิจฉาเพื่อน ซึ่งแก้ได้ง่าย ๆ ด้วยการให้เด็กหลีกเลี่ยง ไม่เข้าใกล้เพื่อนคนนั้น ในขณะที่เด็กบางคนก็รู้สึกสนุกกับการได้ทำร้ายคนอื่น เพราะทำให้เด็กรู้สึกว่ามีอำนาจมากขึ้น แต่เด็กบางคนก็กลายเป็นเด็กเกเรเพียงเพราะคบกับเพื่อนที่เป็นแก๊งอันธพาล ทำให้ต้องคอยรังแกคนอื่นอยู่ร่ำไป

สำหรับผู้ใหญ่ที่เคยเป็นเด็กเกเรมาก่อน มักลงเอยด้วยการมีปัญหามากมายในชีวิต เช่น มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนอื่น มีเพื่อนน้อย เปลี่ยนงานบ่อย เพราะเขาเคยชินกับการปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความก้าวร้าวและดุร้าย จึงอาจเป็นเรื่องที่ดี หากรีบแก้ปัญหานี้เสียตั้งแต่เด็ก ซึ่งการจะสอนให้เด็กหยุดการรังแกคนอื่นนั้นอาจเริ่มต้นจาก

1. พูดคุยถึงต้นตอของปัญหา สอบถามถึงที่มาของพฤติกรรมเกเรของเขา หรือใช้การสังเกตในสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

- เด็กตั้งใจที่จะทำให้คนอื่น ๆ ไม่สบายใจหรือเสียใจหรือเปล่า
- เด็กรู้ตัวหรือเปล่าในขณะที่กำลังรังแกคนอื่น
- เด็กมีปัญหาที่บ้านหรือโรงเรียนไหม มีใครกำลังรังแกเด็กอยู่หรือเปล่า
- เวลาอยู่ที่โรงเรียน เด็กรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง หรือทำให้เหงาไหม
- เด็กรังแกใครบางคนแบบเฉพาะเจาะจงไหม
- เด็กคบเพื่อนที่เป็นอันธพาล ชอบรังแกคนอื่นหรือเปล่า
- เด็กรู้สึกตื่นเต้นหรือสนุกกับการได้ทำร้ายคนอื่นหรือไม่
- เด็กเคยเป็นคนที่ถูกรังแกมาก่อนหรือเปล่า

เพราะบ่อยครั้งที่กลุ่มเพื่อนที่คบ สิ่งแวดล้อมที่บ้าน ประสบการณ์ที่ได้รับมาในอดีตคือตัวการที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมเกเรติดตัวไปจนโต ดังนั้น อาจเป็นการดีที่ให้เด็กเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง (ซึ่งเด็กจะเล่าปัญหาให้กับคนที่เด็กไว้ใจ และเข้าใจ รวมถึงให้กำลังใจเขานะคะ)

2. เมื่อเด็กเปิดใจ อธิบายถึงปัญหา และรู้สึกผิดกับสิ่งที่ทำลงไป ลองให้เด็กหาโอกาสไป "ขอโทษ" คนที่เคยทำร้าย และเตือนว่าอย่าหงุดหงิด หากเด็กที่เคยถูกทำร้ายมีท่าทีระแวงสงสัย เพราะเขาอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัว

3. สอนให้เด็กทำดีกับเพื่อนเป็นการชดเชย หรืออย่างน้อยก็แสดงความเป็นมิตรกับเพื่อน และให้กำลังใจเด็กในการทำดีอย่างต่อเนื่อง

4. สอนให้เด็กรู้จักควบคุมความโกรธ ไม่ให้ระเบิดออกมา หรือถ้าระเบิดออกมาก็อย่าไปทำร้ายคนอื่น เช่น นับ 1 - 10

5. หากิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมให้เด็กทำ เด็กเกเรส่วนหนึ่งเกเรเพราะความเหงา ขาดความมั่นใจ การที่มีโอกาสทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น จะทำให้เขาได้พบกับเพื่อนใหม่ ๆ มากขึ้น และมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

6. มองหาจุดเด่นในตัวเด็ก และสนับสนุนให้เขาพัฒนาจุดเด่นนั้น ๆ เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ

ที่สำคัญคือ ผู้ใหญ่ต้องพยายามให้กำลังใจเด็กเกเรบ่อย ๆ เพราะเด็กอาจเผลอไปรังแกเพื่อนอีกโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ หรือด้วยความลืมตัว การให้กำลังใจอาจเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ดีค่ะ

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก สสส.ค่ะ

วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2552

8 เทคนิคคิดบวก"ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว

8 เทคนิคคิดบวก"ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว"
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์23 มกราคม 2552 09:41 น.
       คงเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับกันมากขึ้น ว่า ปัญหาหย่าร้างของคู่สามีภรรยากำลังทำให้สถาบันครอบครัวในปัจจุบันกลายเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อย และพึ่งผ่านประสบการณ์การหย่าร้างมาหมาด ๆ ต้องแยกจากครอบครัวที่เคยอยู่ร่วมกันพ่อแม่ลูก มาสร้างอนาคตใหม่บนลำแข้งตัวเองเพียงลำพังอาจสูญเสียทั้งกำลังกาย กำลังใจ รวมถึงอาจมองไม่เห็นหนทางในการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นกับตัวเองและลูก ๆ 
       
       แต่ในความทุกข์ที่เกิดจากความล้มเหลวในชีวิตคู่ หากมองในแง่ดีแล้ว ก็เชื่อว่าคงมีข้อดีอีกหลายข้อซ่อนอยู่ ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น ลองดูกันค่ะ
       
       1. คุณพ่อหรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวมีโอกาสได้สอนลูกด้วยตัวคุณเอง และไม่ต้องมีปัญหาในการอบรมสั่งสอนลูก หรือต้องขัดแย้งกับคนอื่น ๆ (อดีตสามีหรืออดีตภรรยา) ที่มีแนวคิดไม่ตรงกันอีกต่อไป ซึ่งในกรณีนี้ คุณจะกลายเป็นคนที่ใกล้ชิดกับลูกมากที่สุดด้วย และจะได้มีโอกาสเข้าร่วมกับกิจกรรมของลูก - สังคมของลูกมากขึ้น
       
       2. ลูก ๆ ที่เติบโตมากับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมีโอกาสที่จะกลายเป็นคนมีความรับผิดชอบสูงกว่าเด็กคนอื่น ๆ เพราะต้องช่วยคุณแม่หรือคุณพ่อดูแลงานต่าง ๆ ในบ้านมาตั้งแต่เล็ก และเขายังมีความคิดเป็นของตัวเอง รวมถึงสามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้ดีมากขึ้นด้วย
       
       3. ปัจจุบันมีข้อมูล หรือองค์กรต่าง ๆ คอยให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาอยู่มากมาย ดังนั้น การเก็บตัว หรือจมอยู่กับความผิดหวังเพียงลำพังจึงไม่ใช่หนทางสำหรับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวอีกต่อไป เพราะคุณมีเวลาเต็มที่ที่จะออกไปหาสิ่งดี ๆ มาเติมเต็มชีวิตตนเองและลูกให้ดีขึ้นได้มากมาย
       
       4. การเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว คุณจะมีเวลาดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง มีเวลาออกกำลังกาย หาอาหารที่มีประโยชน์รับประทานได้ง่ายมากขึ้น เพราะไม่ต้องคิดถึงคนอื่น มีเพียงตัวคุณและลูกเท่านั้น ซึ่งเรื่องของการดูแลสุขภาพให้ดีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมาก ดังนั้นจึงควรมีการพบแพทย์ - ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีด้วย
       
       5. คุณพ่อหรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวจะสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ภายในบ้านได้ด้วยตนเอง เท่ากับว่าตอนนี้คุณได้ไม้อาญาสิทธิ์มาไว้ในครอบครองแต่เพียงผู้เดียวแล้ว เด็กไม่ต้องสับสนอีกต่อไปว่าเขาควรจะฟังใครดี ระหว่างที่พ่อกับแม่เถียงกันเรื่องวิธีเลี้ยงลูก
       
       6. หากยังรู้สึกผิดที่ทำให้ครอบครัวแตกสลาย คุณพ่อหรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวสามารถหันไปมองรอบ ๆ ตัวได้ง่ายมากขึ้น ว่าไม่ใช่มีเฉพาะครอบครัวของคุณที่แปลกแยก แต่ก็มีอีกหลาย ๆ ครอบครัวที่ตกอยู่ในภาวะเดียวกัน และอาจช่วยให้มีกำลังใจในการฟันฝ่าอุปสรรคได้มากกว่าเดิม
       
       7. การเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ทำให้คุณพ่อหรือคุณแม่สามารถหาเวลาทำกิจกรรมกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นของเล่น อ่านหนังสือ ร้องเพลง หรือพาลูกเข้านอนได้ ไม่มีปัญหาอื่น ๆ มากวนใจ
       
       8. เมื่อเหลืออยู่ตัวคนเดียว การมองโลกในแง่ดีจะช่วยให้คุณพ่อหรือคุณแม่ผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ไปได้อย่างมีความสุขมากกว่าเดิม และควรลดความวิตกกังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง หรือปัญหาที่ผ่านไปแล้ว การคิดเช่นนั้นอาจทำให้คุณเกิดความรู้สึกในแง่ลบมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อครอบครัวใหม่ที่คุณกำลังจะก้าวไปด้วยกันค่ะ
       
       หรือหากท่านผู้อ่านมีคำแนะนำอื่น ๆ เสริมนอกเหนือจากนี้ ทางทีมงานขอน้อมรับด้วยความขอบคุณค่ะ

สอนลูกทำการบ้าน

       "การบ้าน" ของลูกนับเป็นปัญหาใหญ่ของพ่อแม่ เพราะมีพ่อแม่หลายๆ คู่สอนการบ้านลูกไม่เป็นหรือไม่มีเวลาที่จะสอนการบ้านให้ลูก
       
       ไม่ดีแน่...หากจะปล่อยลูกให้ทำการบ้านเองโดยไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครองเอาใจใส่ดูแล ซึ่งจะทำให้เด็กไม่เข้าใจบทเรียน เรียนไม่รู้เรื่อง ทำให้มีผลการเรียนอ่อนสะสมมาเป็นเวลานาน และผลร้ายที่สุดคือ สอบตก ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีกับตนเองและอับอายเพื่อน ทำให้ไม่ชอบเรียน ไม่อยากเรียน และรู้สึกว่าตนไม่มีความสามารถ เรียนไม่ได้ และหันไปใส่ใจเรื่องอื่นที่อาจทำให้มีปัญหาได้
       
       จริงๆ แล้วการสอนหรือการฝึกให้ลูกทำการบ้านไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร สำหรับพ่อแม่ที่ไม่มีเวลา อาจฝากให้ลูกเรียนพิเศษตอนเย็นเพื่อให้คุณครูเป็นผู้สอนลูกทำการบ้านแทนก็ได้ สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีเวลาสอนการบ้านลูก เรามาช่วยกันดูแลให้เด็กทำการบ้านและทบทวนบทเรียนกันตามชั้นตอนดังนี้

ภาพจาก www.studylover.com
       เมื่อกลับมาถึงบ้าน อย่าเพิ่งให้เด็กเล่น ต้องให้ลูกทำการบ้านที่โต๊ะเรียนของลูกและดูแลลูกให้ทำการบ้านให้เสร็จเรียบร้อยทุกวัน ต่อจากนั้นพ่อแม่ก็ตรวจสมุดการบ้านลูกให้เรียบร้อย ขณะที่ลูกทำการบ้าน หากเป็นเด็กเล็ก พ่อแม่ต้องช่วยเหลือ อธิบาย สอน แนะนำและดูแลให้ลูกทำ เมื่อลูกมีปัญหาก็ให้คำแนะนำได้
       
       1.เมื่อลูกทำเสร็จแต่ละวิชา พ่อแม่ก็ต้องตรวจดูความถูกต้องเรียบร้อย ชมเชยและให้กำลังใจ
       
       2.ทบทวนบทเรียนวิชาต่างๆ ที่ลูกเรียนมาทุกวัน ให้แน่ใจว่าลูกเข้าใจ รู้เรื่องสิ่งที่เรียนมาเพราะหากลูกไม่เข้าใจแล้วปล่อยไว้จะเป็นการสะสมความไม่เข้าใจ และจะเป็นปัญหา ให้ลูกเบื่อ ไม่อยากเรียน หรือเรียนอ่อน พ่อแม่ควรแก้ปัญหาความไม่เข้าใจบทเรียนของลูกให้ได้
       
       3.ดูแลให้ลูกจัดกระเป๋านักเรียน ตารางสอน เครื่องเขียนและอุปกรณ์การเรียนให้เรียบร้อยทุกวัน หากคุณแม่ได้ดูแลลูกทุกวันติดต่อกันเป็นปีๆ ลูกก็จะมีนิสัยรับผิดชอบ ดูแลตนเอง ควบคุมตนเองได้
       
       4.พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเชื่อและยอมรับว่า การทำการบ้านด้วยตัวของเด็กเองต้องมีการฝึกด้วยการดูแลช่วยเหลือ ชี้แนะ และควบคุมในระยะแรกๆ ซึ่งหากทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นเวลานาน ในที่สุดลูกก็จะรับผิดชอบทำได้เอง เมื่อถึงเวลาก็จะทำการบ้านเอง
       
       การดูแลลูกอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอนสักระยะหนึ่ง ลูกก็จะเรียนรู้ว่า นี่คือสิ่งที่ลูกต้องทำ ลูกก็จะค่อยๆ ทำ ในที่สุดลูกก็จะทำทุกวัน
       

       ไม่ยากเลยใช่มั้ยสำหรับการสอนและฝึกให้ลูกทำการบ้าน เพราะการฝึกให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตนเองในการทำการบ้านเป็นการสร้างนิสัยที่ดีๆ อย่างหนึ่งให้กับลูก หาก เด็กขาดการฝึกฝน ดูแลอย่างใกล้ชิด จะทำให้เกิดปัญหาและเสียเวลามากในการแก้ไขยิ่งถ้าปล่อยไว้จนเด็กโต ก็จะยิ่งแก้ยากหรืออาจแก้ไม่ได้ เป็นปัญหาใหญ่และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
       
       ฉะนั้น...ฝึกเสียตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ นี่แหละ แล้วลูกจะเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบในเรื่องทีได้รับมอบหมาย จะทำให้ลูกเติบโตอย่างมั่นใจ อบอุ่น ปลอดภัย สร้างนิสัยที่ดีๆ มีระเบียบวินัย ในการทำการบ้าน เป็นการป้องกันปัญหาการเรียน และสร้างนิสัยในการทำงานให้เสร็จ มีความรับผิดชอบ ก็จะนำพาลูกไปสู่ความสุข ความสำเร็จในอนาคต
       
       
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
       สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่
       กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข